“เรื่องหนักหัว” นิทรรศการประดิษฐกรรมสวม “กบาล” “มิวเซียมสยาม” เปิดมุมมองใหม่ตัวตนคนไทยผ่าน “หมวก”

ข่าวทั่วไป Monday September 10, 2012 20:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์ มิวเซียมสยาม เปิดตัวนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่ “เรื่องหนักหัว” ร่วมเปิดมุมมองใหม่ค้นหาตัวตนของคนไทย และผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิ ผ่านหมวกหรือเครื่องประกอบศีรษะที่มีความสำคัญในแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน “เรื่องหนักหัว...นิทรรศการเบาเบา กับนานาประดิษฐกรรมสวมกบาล” เป็นนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่ ที่เชิญชวนทุกท่านมาเปิดมุมมองใหม่ค้นหาความเป็นไทย ผ่านเรื่องราวของ “หมวก” “เครื่องศิราภรณ์” และ “เครื่องประกอบศีรษะ” ต่างๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและความเป็นมาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ผ่านหมวกมากมายหลากหลายชนิดที่ถูกนำไปสวมใส่อยู่บนหัว ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทและความสำคัญในแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. กล่าวว่า นิทรรศการชั่วคราว “เรื่องหนักหัว” เป็นนิทรรศการรูปแบบใหม่ ที่นำเสนอเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นคู่ขนานไปกับนิทรรศการถาวร “เรียงความประเทศไทย” โดยจะแทรกเข้าไปอยู่ในห้องต่างๆ ภายในมิวเซียมสยามอย่างกลมกลืน และสอดคล้องกับช่วงยุคสมัยนั้นๆ และยังได้ถูกออกแบบให้เป็นนิทรรศการที่สามารถเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงยังสถานที่อื่นๆ ได้อีกด้วย “นิทรรศการเรื่องหนักหัวฯ จะนำเสนอเรื่องราวของความเป็นมาและความเป็นไปของผู้คนที่อาศัยอยู่กันบนดินแดนสุวรรณภูมิในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่องด้วย หมวก และเครื่องประกอบศีรษะต่างๆ ตั้งแต่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่หลายๆ อย่างได้กลายมาเป็นธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนการรับวัฒนธรรมและอิทธิพลในเรื่องของหมวกจากต่างประเทศในสมัยอยุธยาต่อเนื่องมาจนถึงจนถึงสยามประเทศ ซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนคนไทยในห้วงเวลาและแง่มุมต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ” นายราเมศกล่าว โดยใน ห้องเปิดตำนานสุวรรณภูมิ จะนำเสนอเรื่องของ “หน้ากาก ตัวแทนแห่งผีและพิธีศักดิ์สิทธิ์” ที่ใช้ในพิธีกรรมขอฝนของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ผ่านหลักฐานภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่พบได้ในสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงหน้ากากที่ใช้ในพิธีกรรมที่ยังคงมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเช่น การละเล่นผีตาโขน ที่จังหวัดเลย ระบำปู่เยอ-ย่าเยอ ที่หลวงพระบาง ประเทศลาว และพิธีกรรมของชนเผ่าในเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย ห้องสุวรรณภูมิ นำเสนอเรื่องราวของสังคมในสมัยทวารวดี ผ่านหัวปูนปั้นประดับฐานสถูปที่พบในเมืองโบราณแห่งต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อ การค้าการขาย และการเข้ามาของลัทธิและศาสนาต่างๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “หมวกทวาฯ นานาชาติ” นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องของ “ลอมพอก” หมวกของขุนนางสมัยกรุงศรีอยุธยาที่รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย ที่กลายเป็น “ทอล์คออฟเดอะทาวน์” เมื่อคราวราชทูตสยามสวมใส่ไปเฉิดฉายในพระราชวังแวร์ซาย รวมถึงเรื่องราวของ “ขันที” ในราชสำนักสยาม ที่ถูกจัดแสดงไว้ใน ห้องสยามประเทศ พร้อมรับชมสารคดีและบทสัมภาษณ์ชุดพิเศษ “ชฎากับอัตลักษณ์ของความเป็นไทย” ที่จะมาล้วงแคะแกะเกาความเป็นไทยแบบแสบๆ คันๆ และร่วมสืบค้นที่มาของ “มงกุฎ” และ “ชฎา” ที่ย้อนกลับไปไกลจนถึงยุคสมัยทวารวดี และค้นหาคำตอบว่าชฎาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยจริงหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องราวของ “เลดี้กาก้า” กับชฎาที่ตกเป็นข่าว ในห้อง กรุงเทพฯ ใต้ฉากอยุธยา นำเสนอเรื่อง “สหประชาหมวก สหประชาชาติ” ที่จะบอกเล่าถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของชุมชนในบางกอกยุคแรกเมื่อครั้งก่อตั้งกรุงเทพฯ ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดกัลยาณมิตร ที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนชาวจีน คริสต์ และมุสลิม ของชุมชนย่าน “กุฎีจีน” และในห้อง ชีวิตนอกกรุงเทพฯ ได้นำเสนอเรื่องราวของ “งอบ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้หลักในการประดิษฐ์หมวกให้สามารถระบายความร้อนได้เช่นเดียวกับกับบ้านเรือนไทย ในขณะเดียวกันก็บอกเล่าเรื่องราวการเข้ามาของวัฒนธรรมการสวมหมวกของชาติตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง 6 ที่ได้กลายเป็นเครื่องหมายของความทันสมัยไว้ใน ห้องแปลงโฉมสยามประเทศ ผ่านภาพถ่ายสมัยเก่าที่หาดูได้ยากของเจ้านายสยามที่เริ่มปรับตัวตามชาติตะวันตก และนำเสนอหมวกรูปแบบต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้นทั้ง หมวกสักหลาด หมวกสาน และหมวกกะโล่ นอกจากนี้ใน ห้องกำเนิดประเทศไทย ยังนำเสนอเรื่องราวของ “มาลานำไทย” ในยุค “รัฐนิยม” ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีการนำหมวกมาใช้ในการสร้างความศิวิไลซ์และเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ และพบกับเพลง “สวมหมวกไทย” ที่หาฟังที่ไหนไม่ได้เพราะร้องลงแผ่นเสียงต้นฉบับเพื่อออกอากาศทางวิทยุของกรมโฆษณาการเท่านั้น ที่ขับร้องโดย “มัณฑนา โมรากุล” โดยมีเนื้อหารณรงค์ให้คนไทยสวมหมวกเพื่อให้ประเทศชาติให้เจริญรุดหน้าเหมือนอารยะประเทศ และปิดท้ายกันด้วยเรื่องราวของสถานะและบทบาทระหว่างสตรีกับการเมืองในสมัยทุนนิยมยุคสงครามเย็นใน ห้องสีสันตะวันตก ผ่าน “มงกุฎนางงามจักรวาล” คนแรกของประเทศไทย “อาภัสรา หงสกุล” ที่ได้ตำแหน่งมาพร้อมกับการยกพลขึ้นบกของกองทัพอเมริกาที่อู่ตะเภา ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนาม ขอเชิญร่วมค้นหาตัวตนคนไทยผ่านเครื่องประดับบนหัวชนิดต่างๆ ได้ใน นิทรรศการชั่วคราว “เรื่องหนักหัว...นิทรรศการเบาเบา กับนานาประดิษฐกรรมสวมกบาล” ที่มีกำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม ถึง 9 ธันวาคม 2555 โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 — 18.00 น. เว้นวันจันทร์ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-2252777 ต่อ 407 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ