กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สสวท.
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ทั้งวัยซน วัยใส คุณครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ต่างเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะนิทรรศการและกิจกรรม “สสวท. ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์” ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นั้น เรียกได้ว่าเป็นที่ชุมนุมของเด็กๆ และคุณครูกันเลยทีเดียว
“สสวท. ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์” นั้นมีโซนแห่งความสนุกต่างๆ ถึง 20 โซนด้วยกัน ได้แก่ สนามเด็กเล่น ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ กลเกมคณิตศาสตร์ โรงหนังหรรษา ธาราพาเพลิน ส่องกล้องหาคู่ ท่องโลกธรณีและมหาสมุทร เครื่องร่อนเจ้าเวหา Hands-on Station I, II หอนาฬิกาเจ้าปัญหา กระสวยอวกาศ ลานประลองเกมดิจิทัล IPST Learning Space IPST Bookstore กำแพงอัจฉริยะ เวทีกิจกรรม มหาขุมทรัพย์ล้ำค่า รวมไปถึงห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ของ สสวท. ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการทดลองต่างๆ ได้ฟรีวันละ 5 รอบ
กิจกรรมที่ สสวท. เตรียมไว้สำหรับห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นั้น มีให้เลือกหลากหลาย แต่ละวันก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เช่น วิทยาศาสตร์ช่วยสืบ การประดิษฐ์หุ่นยนต์กระป๋อง ตามหาบรรพบุรุษ การประดิษฐ์แผนที่ดาว การผลิตกล้องรูเข็ม เรียนรู้และสร้างมอเตอร์อย่างง่าย เรียนรู้และสร้างแบตเตอรี่จากผลไม้ แกะรอยคาร์บอน การประดิษฐ์คู่มือวิเคราะห์คุณภาพน้ำ การประดิษฐ์โมเดลไวรัสอย่างง่าย การถ่ายทอดทางพันธุกรรม แข่งขันทำแบบทดสอบการคาดคะเนมุม แข่งขันทำแบบทดสอบการคูณ-หารทศนิยม ฯลฯ
ในส่วนของ IPST Learning Space นั้นมีสื่อดิจิทัลที่น่าสนใจของ สสวท. มากมายที่นำมาให้ได้ลองเล่นกัน มีสื่อการทดลองเสมือนจริงทางวิทยาศาสตร์ เป็นการจำลองห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์มาไว้บนหน้าจอ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การทดลอง หรือมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองแต่ไม่สามารถทำการทดลองได้
ในส่วนของกิจกรรมสำรวจน้ำที่ได้หยิบยกมาให้ร่วมสนุกกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ให้เด็กๆ ได้วางแผนการวิจัย ฝึกตรวจวัดสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เนื่องจากมีความหลากหลายของกิจกรรมที่นำเสนอใน “สสวท. ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์” หากจะเก็บตกให้ถ้วนทั่วต้องใช้เวลาหลายวันกันเลย แต่ส่วนใหญ่เด็กๆ มักจะมาร่วมงานเพียงครึ่งวัน หรือหนึ่งวัน พวกเขาจึงได้ตั้งใจที่จะเรียนรู้กันอย่างเต็มที่ .....เห็นแล้วก็น่าปลื้มใจแทนผู้จัด
เด็กชายทศพล ปราสาททอง ชั้น ม. 2 โรงเรียนอุบลรัตน์ราชกัญญาราชวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา กำลังสนุกกับการยิงเครื่องเล่นเกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์ เรื่องการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์ คือการเคลื่อนที่ในแนวโค้งพาราโบลา ซึ่งเกิดจากวัตถุได้รับความเร็วใน 2 แนวพร้อมกัน คือ ความเร็วในแนวราบและความเร็วในแนวดิ่ง ซึ่งจะต้องปรับมุมยิงและระดับความเร็วต้นของปืนยิงลูกปิงปองให้ลอดห่วงให้ได้ เมื่อยิงลูกปิงปองออกไป เส้นทางการเคลื่อนที่จะเป็นแนนววิถีโค้ง กล่าวว่า การมาร่วมงานนี้ทำให้เราได้ฝึกความคิด ความช่างสังเกต ความรู้จากนิทรรศการของ สสวท. มักจะเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่เรียนอยู่ เราสามารถนำความรู้ไปใช้ในการเรียนได้
เด็กหญิงจันทร์เพ็ญ สีนวน ชั้น ป. 4 โรงเรียนลำพะองราษฎร์จำเริญบำรุง กรุงเทพมหานคร ที่ติดตามร่วมสนุกกิจกรรมของ สสวท. จนครบทุกฐานแล้ว บอกเราว่า ชอบมุมเกมคณิตศาสตร์ แถมยังได้ของที่ระลึกทำด้วยตัวเองจากการร่วมสนุกวิทยาศาสตร์กับศิลปะด้วย แต่ละฐานกิจกรรมนั้นสนุก ไม่ยาก สามารถเข้าใจและเรียนรู้ทำกิจกรรมจนสำเร็จได้
เด็กหญิงอรรัมภา ยิ่งมนต์ และเด็กหญิงกานดา ตันสมบูรณ์ ชั้น ป. 6 โรงเรียนวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร เล่าว่า ชอบกิจกรรมทุกฐานของ สสวท. สนุก ได้ความรู้จากการร่วมกิจกรรม โดยตนเองกับเพื่อนๆ นั้นได้มาร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์เป็นประจำทุกปี แต่ละฐานทำได้ ไม่ยากเลย
นายธนกาญจน์ สังคะรักษ์และนายอภิมุข สุขจิตต์ ชั้น ม. 4 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา ที่กำลังทำกิจกรรมจิ๊กซอว์ทวีป จัดเรียงทวีปใหม่ตามหลักฐานฐากดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏเพื่อย้อนรอยทวีปในดดีตว่าเคยมีสภาพอย่างไร บอกว่า พวกเราเข้าร่วมสนุกทุกฐานแล้วครับ ชอบฐานนี้มากที่สุด ซึ่งทำให้เรารู้ข้อสันนิษฐานว่าทวีปในอดีตไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับทวีปในปัจจุบัน แต่ทวีปทั้งหลายเคยเป็นผืนดินใหญ่ติดต่อกันมาก่อน ชื่อว่า พันเจีย (Pangea)