กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--OutDoor PR Plus
การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ชูกลยุทธ์ปลุกจิตสำนึกการมีส่วนร่วมต่อสังคม (CSR) ดึงชุมชนกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ทั้งแนวราบ แนวสูง และโครงการที่ใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ร่วมประกวด “โครงการชุมชนสดใส จิตใจงดงาม” ครั้งที่ 3 เฟ้นหาสุดยอดชุมชนดีเด่น ที่มีแนวคิดเชิงสร้างสรรค์บริหารจัดการชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รณรงค์ใช้ในชุมชน ... บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง
นายวิฑูรย์ เจียสกุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ การเคหะแห่งชาติ ได้ดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายตามนโยบายภาครัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนมาโดยตลอด ในแต่ละปีใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ในการรณรงค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนกว่า 1,000,000 คน ที่อาศัยในชุมชนเคหะฯ 404 ชุมชนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติ เชื่อมั่นว่ากลไกการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน (Corporate Social Responsibility) จึงได้จัดให้มีกิจกรรมประกวด “โครงการชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ปีที่ 3” เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้แต่ละชุมชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต และสภาพแวดล้อมชุมชน ให้เป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ ทั้งทางด้านกายภาพ อาทิ ความสะอาดของชุมชน ทัศนียภาพ และการมีส่วนร่วมของกรรมการ สมาชิกชุมชน การบริหารจัดการชุมชน การจัดทำแผนชุมชนเพื่อขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการส่งเสริมความสามัคคี ตลอดจนการบริหารการเงินชุมชนที่โปร่งใสตรวจสอบได้
“กิจกรรมในครั้งนี้ มีชุมชนผู้อยู่อาศัยโครงการเคหะ และโครงการเอื้ออาทร ทั้งชุมชนแนวราบและแนวสูง มีเครือข่ายสมัครเข้าร่วมโครงการ 60 ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมคัดเลือกรอบแรกและให้คณะกรรมการคัดเลือกลงตรวจพื้นที่คัดเหลือจำนวน 16 ชุมชน จากนั้นคณะกรรมการอำนวยการโครงการจะลงพื้นที่พิจารณาคัดเหลือเพียง 10 ชุมชน ซึ่งในวันนี้ (9 กันยายน 2555) ได้จัดพิธีมอบรางวัล “โครงการประกวดชุมชนสดใจ จิตใจงดงาม” ครั้งที่ 3 ขึ้น ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ โฟร์วิงส์ (ศรีนครินทร์) โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท ทั้งนี้ มีชุมชนที่ได้รับรางวัล คือ 1. ชุมชนประเภทอาคารแนวราบ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรจันทบุรี (พระยาตรัง) รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนราชบุรี ระยะ 1-3 พร้อมด้วย 2 รางวัลชมเชย ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิต คอลง 10/1 และโครงการบ้านเอื้ออาทรศรีษะเกษ (หนองครก) 2.ชุมชนประเภทอาคารแนวสูง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรกระทุ่มแบน 2 (สวนหลวง) รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรอยุธยา (เชียงรากน้อย) พร้อมด้วย 2 รางวัลชมเชย คือ โครงการบ้านเอื้ออาทรรามอินทรา (คู้บอน) และโครงการบ้านเอื้ออาทรนนทบุรี 3.ชุมชนประเภทใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 10/1 พร้อมรางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรสมุทรสงคราม (ลาดใหญ่) โครงการบ้านเอื้ออาทรบุรีรัมย์ ระยะ 3/1 และรางวัลชมเชย ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรจันทบุรี (พระยาตรัง) สำหรับทุกโครงการที่ได้รับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมด้วยเงินรางวัล เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนของตนเองต่อไป”
ผู้ว่าการการเคหะฯ กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญของความเข้มแข็งของชุมชน คือ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีกรรมการชุมชน มีสมาชิกที่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม การเคหะแห่งชาติจึงพยายามผลักดันกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา ให้มีคณะกรรมการ มีตัวแทน เป็นการสร้างประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน และเชื่อมั่นว่าเมื่อกรรมการชุมชนการเคหะแต่ละพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นได้ จะเกิดกลุ่มต่างๆ ในชุมชน และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน อาทิ กลุ่มอาชีพ สหกรณ์ชุมชน สวัสดิการชุมชน เป็นต้น นำไปสู่การต่อยอดในการจัดทำแผนชุมชน และขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วยตนเองในท้ายที่สุด