6 เดือนแรกปี 2547 บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ MAI โชว์กำไรรวมเกือบสองแสนล้านบาท

ข่าวเทคโนโลยี Friday August 20, 2004 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ MAI โชว์กำไรสุทธิงวดครึ่งปีแรก 2547 รวมเกือบ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 โดย 6 กลุ่มอุตสาหกรรมกำไรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ได้แก่กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มบริการ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มวัตถุดิบและสินค้า อุตสาหกรรม ส่วน บจ. ในกลุ่ม SET50 กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ในขณะที่บจ.ใน MAI โชว์กำไรสุทธิสูงถึง 252 ลบ.
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2547 บริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) ได้นำส่งงบการเงินงวด 6 เดือนแรกของปี 2547 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2547 แล้ว จำนวน 416 บริษัท (ร้อยละ 96 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 433 บริษัท) โดยในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 187,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29
“ร้อยละ 84 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ (339 บริษัทจาก 403 บริษัท) มีผลกำไรสุทธิ 187,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อีก 64 บริษัท หรือร้อยละ 16 มีผลขาดทุนสุทธิ ส่วนบริษัท จดทะเบียนใน MAI จำนวน 13 บริษัท มีกำไรสุทธิ 11 บริษัท รวมทั้งสิ้น 252 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17 ” นายกิตติรัตน์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิรวม 148,453 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณและราคาขายสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตของต้นทุนรวมโดยมียอดขาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ทั้งนี้บริษัทในกลุ่ม SET50 ที่มีผลกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ บมจ.ปตท.(PTT), บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ. ไทยพาณิชย์ (SCB) , บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) (จำนวน368 บริษัท) มีกำไรสุทธิรวม 185,870 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยเรียงลำดับตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดได้ ดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจการเงิน (ประกอบด้วยหมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต) จำนวน 60 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 43,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20
2. กลุ่มทรัพยากร (ประกอบด้วยหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่) ปรากฏผลกำไรสุทธิ เท่ากับ 42,563 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37 โดยมีสาเหตุหลักจากหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคที่มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เนื่องจากปริมาณการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจประกอบกับราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และดอกเบี้ยจ่ายลดลงร้อยละ 15
3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (ประกอบด้วยหมวดวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์) มีกำไรสุทธิรวม 35,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 38 ซึ่งเป็นผลจากยอดขายที่เติบโตร้อยละ 21 ตามความต้องการวัสดุก่อสร้างภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22
4. กลุ่มบริการ (ประกอบด้วย 8 หมวดอุตสาหกรรม) มีกำไรสุทธิ 23,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 51 เป็นผลจากการเติบโตของยอดขายร้อยละ 20 โดยหมวดขนส่งที่มีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 57 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 24 เนื่องจากปริมาณการใช้บริการเพิ่มขึ้นและอัตราค่าระวางการขนส่งทางน้ำปรับตัวดีขึ้น
5. กลุ่มเทคโนโลยี (ประกอบด้วยหมวดสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์) มีกำไรสุทธิรวม 21,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 1 เป็นผลจากต้นทุนขายเติบโตร้อยละ 24 ในขณะที่การเติบโตของยอดขายเพียงร้อยละ 21 ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 26 เป็น ร้อยละ 23 โดยหมวดสื่อสารมีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 77 ของกลุ่มอุตสาหกรรม
6. กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม มีกำไรสุทธิ 12,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22 เป็นผลมาจากกำไรของกลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71 ของกลุ่มอุตสาหกรรม) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 เนื่องจากราคาปิโตรเคมีอยู่ในวงจรขาขึ้น
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร) รวมจำนวน 41 บริษัท มีกำไรสุทธิ 4,141 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9 โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ28 และมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นร้อยละ 19 จากเดิมร้อยละ 23 เนื่องจากวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่หมวดธุรกิจการเกษตร (ผลกำไรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของกลุ่มอุตสาหกรรม) มีผลกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เนื่องจากมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11 จากเดิมร้อยละ 9
8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มีกำไรสุทธิ 2,833 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.8 เนื่องจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ในขณะที่ยอดขายเติบโตเพียงร้อยละ 1
ด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ และบริษัทประกันชีวิตและประกันภัย รวม 60 บริษัท มีผลกำไรสุทธิรวม 43,429 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม มีอัตราการเติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20 โดยหมวดธนาคารพาณิชย์ได้แก่ธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง และ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) มีกำไรสุทธิรวม 38,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 6 เดือนปี 2546 ที่มีกำไรสุทธิ 29,627 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และเงินรับฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) จำนวน 16 บริษัท มีกำไรรวม 1,820 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,080 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 55 โดยกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์มีขาดทุนสุทธิ 2,549 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 661 เนื่องมาจาก บล.เอเซีย พลัส จก. ได้ตัดจำหน่ายต้นทุนเงินลงทุนที่เกินกว่ามูลค่า ยุติธรรมของ บล.แอสเซท พลัส จก. 4,460 ล้านบาท ดังนั้นหากไม่รวมผลการดำเนินงานของ บล.เอเซีย พลัส จก. กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์จะมีกำไรสุทธิ 1,559 ล้านบาท
ส่วนหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 1,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเปรียบเทียบกับ งวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้จากการลงทุนและกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 605 ล้านบาทหรือร้อยละ 43 เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยมีเบี้ยประกันภัยรับเพิ่มขึ้น 2,874 ล้านบาทหรือร้อยละ 27
ร้อยละ 81 ของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน (REHABCO) ณ 17 สิงหาคม 2547 (35 บริษัทจากจำนวน 43 บริษัท) มีกำไรสุทธิรวม 1,155 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2,077 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 156 เนื่องจากมียอดขายเพิ่มขึ้น 31,595 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 54 และมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 3,293 ล้านบาท ในขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมีขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ 1,228 ล้านบาท
บริษัทจดทะเบียนที่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ณ 30 มิถุนายน 2547 มีหนี้คงค้างของกลุ่มบริษัท ดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 236,300 ล้านบาท ลดลง 4,020 ล้านบาท จากสิ้นปี 2546 ซึ่งมีมูลหนี้ทั้งสิ้น 240,320 ล้านบาท ทั้งนี้ สรุปสถานะการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในหมวด REHABCO ตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ได้ดังนี้
มีจำนวนบริษัทที่เปิดซื้อขายในหมวด REHABCO จำนวน 14 บริษัท โดยไม่มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เปิด ซื้อขายในหมวด REHABCO เพิ่มเติม
มีบริษัทที่ย้ายเข้าหมวด REHABCO เพิ่มขึ้นจำนวน 3 บริษัท คือ บมจ. ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) (TUNTEX), บมจ.บางกอกรับเบอร์ (BRC) และ บมจ.ศรีไทยฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ (SRI)
มีบริษัทที่ย้ายกลับหมวดปกติจำนวน 3 บริษัท คือ บมจ.อีสเทิร์นไวร์ (EMC), บมจ. แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) และ บมจ. มิลเลนเนียม สตีล (MS) (บมจ.ไรมอน แลนด์ (RAIMON) จะย้ายกลับไปยังกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2547)
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 /
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037 /
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 - 2049--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ