กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--ปตท.
มุ่งนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ให้เกิดมูลค่าสูงสุด และพัฒนาเข้าสู่ธุรกิจปิโตรเคมีต่อเนื่องขั้นปลาย พร้อมสร้างพลังร่วมระหว่างโรงกลั่นในเครือ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันระยะยาวในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะจะได้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพในสภาวะปัจจุบันที่ตลาดเม็ดพลาสติกและธุรกิจการกลั่นอยู่ในช่วงขาขึ้น
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 8/2547 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 คณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติเห็นชอบให้ ปตท. ซื้อหุ้นบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด บริษัท บางกอกโพลีเอททีลีน จำกัด (มหาชน) และ ลงทุนในโครงการเอทิลีนแครกเกอร์และผลิตเม็ดพลาสติก โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ตามแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ปิโตรเคมี และสร้างพลังร่วม (Synergy) ระหว่างบริษัทโรงกลั่นน้ำมันในเครือของ ปตท. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาวให้แก่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ของ ปตท. ดังนี้
การซื้อหุ้นในบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด คณะกรรมการ ปตท. อนุมัติ ให้ ปตท. เข้าซื้อหุ้น 64% ในบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (Rayong Refinery Company Limited: RRC) ซึ่งเป็น โรงกลั่น Hydro Cracking ที่ทันสมัย มีกำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวันจากบริษัท เชลล์ อินเตอร์ เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด ส่งผลให้ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้น RRC ทั้ง 100% และหลังจากนั้น ปตท.จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และทุนของRRCโดยปตท.จะสนับสนุนทางการเงินจำนวนไม่เกิน250ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในรูปเงินกู้ด้อยสิทธิ์ และ/หรือเงินทุน ประกอบกับ ปัจจุบัน ปตท. ได้ดำเนินการซื้อหนี้จากเจ้าหนี้ของ RRC แล้วโดยมีส่วนลดหนี้ 15% ซึ่งหลังจากปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ RRC จะมีภาระหนี้สินเหลือเพียง 600-700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้มีสภาพคล่องในการดำเนินงานต่อไป อย่างไรก็ดี ปตท. มีนโยบายที่จะจำหน่ายหุ้น RRC ให้กับกลุ่มพันธมิตรทางการค้า (Strategic Partner) หรือกลุ่มนักลงทุนในโอกาสและเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อไป
การเข้าถือหุ้นทั้งหมดใน RRC ครั้งนี้เป็นการเพิ่มความมั่นคงทางด้านการจัดหาให้กับการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยสร้างพลังร่วม (Synergy) ระหว่างบริษัทโรงกลั่นในเครือ ปตท. ซึ่งมี บริษัทไทยออยล์ จำกัด เป็นโรงกลั่นหลักด้วย เนื่องจาก ปตท. สามารถกำหนดแนวทางการกลั่นให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับนโยบายทางการตลาดของปตท.ทั้งใน และต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ทำให้
RRC สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันค่าการกลั่นของธุรกิจโรงกลั่น(Gross Refinery Margin)มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและภูมิภาค ซึ่งในภาพรวมของประเทศจะทำให้ภาวะอุปสงค์/อุปทานภายในประเทศเกิดความสมดุลเช่นเดิมอีกด้วย
อนึ่ง ปตท. ลงทุนในธุรกิจการกลั่นน้ำมันผ่านบริษัทในเครือ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (49.99%) บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (36%) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (36%) และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (8.83%) รวมกำลังการกลั่นเฉพาะในสัดส่วนที่ ปตท. ถือหุ้น คิดเป็น 226,774 บาร์เรล/วัน หรือ 22% ของกำลังกลั่นทั้งประเทศ และหลังจาก ปตท. เข้าถือหุ้น RRC ครบ 100% ปตท. จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 319,574 บาร์เรล/วัน หรือ 32% ของกำลังกลั่นทั้งประเทศ
สำหรับการซื้อหุ้นของ บริษัท บางกอกโพลีเอททีลีน จำกัด (มหาชน) (BPE) เพื่อเป็นการพัฒนาธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายอย่างจริงจัง คณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติให้ ปตท. ร่วมกับบริษัท ไทยโอเลฟินส์จำกัด (มหาชน) (TOC) ในสัดส่วน 50: 50 ซื้อหุ้นของ BPE ซึ่งมีทรัพย์สินหลักประกอบด้วยโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอททีลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) และหุ้นของบริษัท TOC ที่ BPE ถืออยู่จำนวน 58.36 ล้านหุ้น หรือ 7.11% รวมวงเงินซื้อหุ้นทั้งหมด 3,400 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของ ปตท. 1,700 ล้านบาท และเพื่อขจัดปัญหาการถือหุ้นไขว้ระหว่าง TOC กับ BPE และปตท.ไม่ต้องถือหุ้นใน TOC เกิน 50% คณะกรรมการ ปตท. ยังอนุมัติให้ ปตท. ซื้อหุ้น TOC ในส่วนที่ BPE ถืออยู่ 4.05% ซึ่งจะทำให้ ปตท.ถือหุ้นใน TOC รวม 49.99% . ส่วนหุ้น TOC ที่เหลือ 3.06% จะได้ขายให้ผู้สนใจต่อไป
การซื้อหุ้น BPE นับเป็นการพัฒนาธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. ที่มุ่งสู่การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Gas Based Petrochemical) เพื่อให้มีฐานการผลิตและเครือข่ายการตลาดครบวงจร สามารถเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติได้สูงสุด อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรของ ปตท. ที่สำคัญยังเป็นโอกาสอันดีที่ ปตท. จะเข้าสู่ธุรกิจต่อเนื่องขั้นปลายได้ทันที กอปรกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงที่ตลาดเม็ดพลาสติกเริ่มฟื้นตัว ราคาผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ BPE มีเครือข่ายการตลาดที่แน่นอน ซึ่ง ปตท. จะสามารถใช้เป็นเครือข่ายการตลาดให้แก่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. ได้ และในอนาคต ปตท.มีแผนปรับปรุงโรงงานของ BPE เพื่อขยายกำลังการผลิต อีกด้วย
อนึ่ง BPE ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 มีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง นำวัตถุดิบหลัก (เอทิลีน) จาก TOC ไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ด้วยกำลังการผลิต 200,000 เมตริกตันต่อปี โดยผู้ถือหุ้นเดิม ประกอบด้วยกลุ่มธนาคารกรุงเทพ (40.7%) กลุ่มมิตซุย (35%) และอื่นๆ (24.3%)
ส่วนการลงทุนในโครงการเอทิลีนแครกเกอร์ (Ethylene Cracker) และผลิตเม็ดพลาสติโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) คณะกรรมการ ปตท. เห็นชอบให้ ปตท. ลงทุนร่วมกับบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NPC) ในสัดส่วนการร่วมทุน 50 : 50 จัดตั้งโรงงานเอทิลีนแครกเกอร์ ขนาด 410,000 ตันต่อปี และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ขนาด 300,000 ตันต่อปี ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 444 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 1 : 1 คิดเป็นเงินลงทุนในส่วนของ ปตท. 111 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะใช้อีเทนจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 2 และ 3 ของประเทศที่จังหวัดระยอง ปริมาณ 530,000 ตันต่อปี เป็นวัตถุดิบ โดยโครงการฯ มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2551 ทั้งนี้ NPC อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ NPC สำหรับ การลงทุนดังกล่าว
การลงทุนนี้มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ของประเทศ ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พบว่า มีโอกาสในการลงทุนปิโตรเคมีสายเอทิลีน ได้ภายในปี 2553 โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงาน ตามกลยุทธ์การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบสำหรับปิโตรเคมี (Gas Based Petrochemicals) ของ ปตท. ในการนำก๊าซมาใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นการต่อยอดทางธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มปิโตรเคมี ปตท.--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--