ก.พลังงาน จับมือ คมนาคม และคลังเดินหน้าประหยัดน้ำมัน เล็งส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ

ข่าวทั่วไป Friday August 20, 2004 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สนพ.
กระทรวงพลังงาน เดินหน้าประหยัดน้ำมันต่อเนื่อง เตรียมจัดทำแผนและนโยบายส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบกและทางอากาศ ด้านหน่วยงานเกี่ยวข้องขานรับเต็มที่
ดร.พรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพลังงานจึงได้ส่งเสริมให้มีการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการขนส่งมีสัดส่วนการใช้น้ำมันมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์บริเวณสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าใต้ดินและ BTS จำนวน 2 แห่ง คือ สถานีบางซื่อและสถานีหมอชิต อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่นำรถยนต์ส่วนตัวมาจอด และเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือรถไฟฟ้า BTS เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถส่วนบุคคล และหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยการดำเนินงานดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้ประเทศประหยัดน้ำมันได้ปีละประมาณ 75 ล้านบาท หรือคิดเป็นน้ำมัน 5 ล้านลิตร/ปี
สำหรับ แนวทางการรณรงค์ลดใช้น้ำมันช่วงต่อไป กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อลดการใช้น้ำมันในภาคขนส่งทางถนนและทางอากาศ โดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนและนโยบายส่งเสริมการขนส่งทางน้ำในภาพรวม และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานการขนส่งและจราจร (สนข.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งทุกฝ่ายสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงพลังงานในมาตรการส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ โดยสรุปแนวทางส่งเสริมการขนส่งทางน้ำได้ ดังนี้
1.ปรับเปลี่ยนแนวทางจัดการด้านขนส่งสินค้าของประเทศ โดยให้ใช้การขนส่งทางน้ำและทางรถไฟเป็นหลัก ใช้การขนส่งทางถนนและทางอากาศเป็นระบบเสริม
2.แบ่งแนวทางส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำ เป็น 2 ระยะ คือ มาตรการระยะสั้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เช่น การเสริม Feeder ให้กับการขนส่งทางน้ำใน เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่ จ.อ่างทอง และเส้นทางแม่น้ำป่าสัก พื้นที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา การเชื่อมต่อระบบขนส่งกับ Main Line ทางรถไฟ การใช้ประโยชน์จากโรงเก็บ ผลผลิตทางการเกษตรที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อปรับปรุงเป็นศูนย์กระจายสินค้า มาตรการ ระยะยาว เช่น ขยายขีดความสามารถการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่านให้สามารถเดินเรือได้ตลอดปี
3.ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่าน โดยกรมการขนส่งทางน้ำฯ
4.ศึกษาความเหมาะสมเพื่อศึกษายุทธศาสตร์การขนส่งต่อเนื่องรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสร้าง Logistic Provider และมาตรการจูงใจสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางน้ำ เช่น มาตรการด้านภาษี โดยสนข.
5.จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประสิทธิภาพ ขนส่งสินค้าให้เชื่อมโยงกับระบบ Logistic ของประเทศให้สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ประมาณเดือนสิงหาคม 2547 โดยกระทรวงการคลัง--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ