จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผลประกอบการไตรมาสสองเติบโตต่อเนื่อง

ข่าวบันเทิง Friday August 20, 2004 19:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยังคงครองความเป็นผู้นำธุรกิจบันเทิงอย่างต่อเนื่อง ประกาศผลกำไรในไตรมาสที่สองของปี 2547 โตต่อเนื่องจากไตรมาสแรกกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ บุษบา ดาวเรือง ประธานกรรมการบริหารของ กลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดเผยว่า
"ในไตรมาสที่สองของปี 2547 กลุ่มบริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง โดยมีรายได้รวม และกำไรสุทธิ 1,637.5 ล้านบาท และ 198.5 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรกในอัตราร้อยละ 7 และ 20.6 ตามลำดับ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีรายได้รวมและกำไรสุทธิตลอดครึ่งปีแรกของปี 2547 เท่ากับ 3,169 ล้านบาท และ 363.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต ร้อยละ 9.3 และ 11 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2546 ซึ่งการเติบโตดังกล่าว มีสาเหตุหลักมาจากการที่ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทซึ่งได้แก่ ธุรกิจเพลง และ ธุรกิจโทรทัศน์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ธุรกิจใหม่อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเพลง โดยเฉพาะธุรกิจ E-Business และการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับที่น่าพอใจเช่นกัน
ธุรกิจเพลง
ธุรกิจเพลงโดยรวมในไตรมาสที่สองของปี 2547 มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจเพลงส่วนที่มีการเติบโตมากที่สุดได้แก่ Music Business โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 จากการประสบความสำเร็จอย่างสูงของอัลบั้ม "เบิร์ด-เสก" ที่มียอดขายกว่าล้านชุดในครึ่งแรกของปี นอกจากนี้ยอดขายอัลบั้มเพลงลูกทุ่ง และอัลบั้มรวมเพลงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในครึ่งแรกของปี 2547 ได้มีการออกอัลบั้มทั้งสิ้น 105 อัลบั้ม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจเพลงของกลุ่มบริษัทเป็นการยืนยันถึงความเชื่อมั่นที่มีมาตลอดของบริษัทคือ "Music Never Dies" นอกจากนี้จากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและรสนิยมของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ธุรกิจ E-Business และการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งในส่วนของกลุ่มบริษัท ธุรกิจทั้งสองประเภทมีการเติบโตจากการขยายตัวของฐานรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่สองของปี 2547 ธุรกิจ E-Business มีการเติบโตของรายได้ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรกถึงร้อยละ 49 ซึ่งธุรกิจ E-Business ปัจจุบันมีรายได้หลักมาจาก Ringtones ส่วนรายได้จากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในไตรมาสนี้มีการเติบโตในอัตราร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทสามารถขยายฐาน และเพิ่มประเภทของการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจทั้งสองประเภทประสบความสำเร็จก็คือการใช้ประโยชน์จาก Music Library ของบริษัทที่ปัจจุบันมีเพลงอยู่มากกว่า 10,000 เพลงที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ธุรกิจสื่อ
ธุรกิจสื่อยังคงเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุดเป็นอันดับสองรองจากธุรกิจเพลง โดยในไตรมาสที่สองของปี 2547 ธุรกิจสื่อส่วนที่มีการเติบโตมากที่สุด ได้แก่ สื่อ โทรทัศน์ ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการได้ช่วงเวลาในการออกอากาศจากสถานีต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเวลาที่ได้เพิ่มขึ้นจากช่อง 3 ถึง 4 ชั่วโมง 45 นาที ต่อสัปดาห์ บวกกับการที่รายการส่วนใหญ่ของกลุ่มบริษัทที่ออกอากาศอยู่เดิมยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มบริษัทที่ออกอากาศอยู่เดิมยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มบริษัทยังได้มีการหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยได้มีการพูดคุยกับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีศักยภาพ และมีแนวคิดในการทำธุรกิจที่สอดคล้องกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กันและกัน ซึ่งตัวอย่างที่ผ่านมาได้แก่การเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ดีทอล์ค จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรายการ "สัญญามหาชน" โดยได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 โดยประโยชน์ที่จะได้รับคือการมีจำนวนรายการที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น
ในส่วนของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มีรายได้ในไตรมาสที่สองของปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มหัวหนังสือใหม่สองหัว ได้แก่ Madame Figaro และ Her World ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ในส่วนของธุรกิจสื่อวิทยุนั้น ยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามรายได้ของธุรกิจวิทยุในไตรมาสที่สองของปี 2547 ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีสถานีวิทยุทั้งสิ้น 6 สถานี โดยได้เพิ่มสถานีใหม่ FM. 94.5 Music Box ในช่วงต้นปี 2547 ซึ่งปัจจุบันสถานีวิทยุทั้ง 6 สถานีของกลุ่มบริษัทยังคงได้รับความนิยมในหมู่ผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจภาพยนตร์
ธุรกิจภาพยนตร์มีรายได้ในไตรมาสที่สองของปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ที่เกิดจากภาพยนตร์ที่ออกฉาย 2 เรื่องได้แก่ "ไอ้ฟัก" และ "พันธุ์เอ็กซ์เด็กสุดขั้ว" นอกจากนี้บริษัทยังได้มีการร่วมจัดตั้ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และ บริษัท หับโห้หิ้น บางกอก จำกัด เพื่อหน้าที่ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทยคุณภาพเพื่อป้อนตลาดทั้งใน และต่างประเทศ โดยในครึ่งหลังของปีคาดว่าจะมีภาพยนตร์ออกฉายประมาณ 4 เรื่อง
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในไตรมาสที่เหลือของปี คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกโดยเฉพาะจากธุรกิจเพลงที่เป็นต้นน้ำ โดยจำนวนอัลบั้มที่จะออกจำหน่ายคาดว่าอย่างน้อยจะใกล้เคียงกับในครึ่งปีแรก โดยจะยังคงมุ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและความแปลกใหม่ นอกจากนี้จากการที่ในปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มในการซื้อ ซีดี และ วีซีดีมากกว่าเทป จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นผลบวกต่อการเติบโตของรายได้จากการขายสินค้าเพลงเช่นกัน ในส่วนของธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพลง โดยเฉพาะธุรกิจ E-Business ก็ได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตจากช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบบไร้สาย หรืออินเตอร์เน็ตแอคเซส ในส่วนของธุรกิจสื่อคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจโทรทัศน์ที่คาดว่าจะยังคงมีการเติบโตของรายได้ค่าโฆษณาจากรายการใหม่ที่ได้เวลาออกอากาศเพิ่มขึ้นจากสถานีต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการที่มีพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่จะมีการเปิดตัวนิตยสารเล่มใหม่ภายในไตรมาสที่สี่ของปี"--จบ--
--อินโฟเควสท์ (กภ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ