กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน
ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน แอปเปิ้ลได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ของโทรศัพท์มือถือ โดยการนำเสนอนวัตกรรมล้ำสมัยที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆในการใช้โทรศัพท์มือถือแก่ชาวโลก ซึ่งนับว่าสะเทือนวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งวงการ โดยเฉพาะกับ โนเกีย และ ริม (ผู้ผลิตแบล็คเบอร์รี่) ผู้ผลิตมือถือยักษ์ใหญ่ของโลกในเวลานั้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยคู่แข่งที่สำคัญของ iOS ในการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่าง แอนดรอยด์ (Android) และ วินโดว์ (Windows) ได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบัน แอนดรอยด์เป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนของโลก และส่งผลให้ซัมซุงขึ้นแท่นผู้นำของผู้ขายโทรศัพท์มือถือของโลก แต่แอปเปิ้ลหวังว่าการเปิดตัวสินค้าใหม่ในครั้งนี้จะทำให้แอปเปิ้ลกลับมาผงาดขึ้นมาในฐานะผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนของโลกอีกครั้ง
ไอโฟนตัวใหม่นี้ คาดว่าจะมีหน้าจอที่หญ่ขึ้น รองรับ NFC มีระบบปฎิบัติการที่เร็วขึ้น มีกล้องที่ดีขึ้น รวมถึง Dock Connector ที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้แอปเปิ้ลสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมีคุณค่าให้กับสินค้าใหม่ เหมือนกับที่เคยเปิดตัว Siri เมื่อครั้งที่ออก ไอโฟน 4s
นาย พรานาเบช นาธ และนาย อภิเชค ชูฮาน ผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบัน รายได้หลักของแอปเปิ้ลยังคงมาจากไอโฟน เมื่อครั้งที่แอปเปิ้ลได้เปิดตัว ไอโฟน 4s แทน ไอโฟน 5 นั้น เป็นการสร้างความผิดหวังให้แก่สาวกแอปเปิ้ลจำนวนไม่น้อย แต่ความผิดหวังดังกล่าวก็ไม่สามารถฉุดยอดขายที่สูงลิ่วของไอโฟน 4s ได้ ดังนั้น ฟรอสต์ฯ คาดว่า การเปิดตัวครั้งนี้ แอปเปิ้ลจะสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 1.5 — 2 ล้านเครื่องภายในเวลา 24 ชม. เทียบกับยอดขายไอโฟน 4s เมื่อปีที่แล้ว ที่แอปเปิ้ลได้สร้างปรากฎการณ์ไว้ที่ 1 ล้านเครื่องภายใน 24 ชม.
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งของแอปเปิ้ลอย่าง ไมโครซอฟท์ โนเกีย โมโตโรล่า ต่างก็พยายามชิงเปิดตัวสินค้าใหม่สู่สายตาชาวโลกก่อนการเปิดตัวของแอปเปิ้ล แต่คาดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากสาวกไอโฟนนั้นยังเหนียวแน่นและรอคอยการเปิดตัวครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อมาก
“แม้จะมีกระแสโต้แย้งมาว่าแอปเปิ้ลไม่ได้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ แต่มันก็เป็นการพัฒนาประสบการณ์และผสมผสานรูปแบบของการใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เข้าด้วยกัน รวมถึงการแก้ไขข้อผิดพลาดของผู้ผลิตรายอื่นๆ” นายพรานาเบซ กล่าว
นายพรานาเบซยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ตลาดสมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนจา Device driven market มาเป็น application and services driven market โดยสมาร์ทโฟนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มหลักในการพัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชั่นต่างๆ
นอกจากนี้ เทรนด์ดังกล่าวยังก่อให้เกิดเทรนด์ใหม่อีกหลายเทรนด์ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการที่ โนเกียได้จับมือกับไมโครซอฟท์เพื่อต่อสู้กับแอปเปิ้ล และกูเกิ้ล รวมถึงการเปิดตัวบริการและแอปพลิเคชั่นที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น แอปพลิเคชั่นเพลง หนัง อีบุ้ค และอื่นๆ
“จะเห็นได้ว่า ตลาดแบ่งเป็น สองเซ็กเมนต์ใหญ่ๆ คือ เซ็กเมนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยยอดขายและรายได้จากตัวเครื่อง และเซ็กเมนต์ที่ใช้ตัวเครื่องเป็นตัวสร้างรายได้จากแอปพลิเคชั่นและบริการต่างๆ โดยมีซัมซุงเป็นผู้นำในเซ็กเมนต์แรก และ แอปเปิ้ล กูเกิ้ล อเมซอน พยายามขับเคี่ยวกันในเซ็กเมนต์ที่สอง” นายพรานาเบซ กล่าว
ในระยะยาว ซัมซุง ซึ่งเป็นผู้นำด้านการขายโทรศัพท์มือถืออาจได้รับผลประโยชน์ลดลงเนื่องจากโทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และยอดขายโทรศัพท์มือถือจะลดลง
นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นที่น่าจับตามองในระยะยาวคือ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆของอเมซอน ซึ่งปัจจุบัน อเมซอนมี E-content อยู่เป็นจำนวนมหาศาลในรูปแบบของอีบุ้ค ดนตรี และภาพยนตร์ต่างๆ การเปิดตัว Kindle Fire ส่งผลให้อเมซอนขยับขึ้นมาเป็นผู้เล่นอันดับ 4 ในตลาด รองจาก แอปเปิ้ล กูเกิ้ล และไมโครซอฟท์
“หากผู้บริหารของอเมซอนสนใจใช้กลยุทธ์ด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มในการดำเนินธุรกิจ เราอาจมีโอกาสได้เห็นสมาร์ทโฟนจากอเมซอนในอนาคตอันใกล้
ในระยะยาว ผู้เล่นต่างๆในตลาดนี้จะหันมาให้ความสำคัญและแข่งขันกันพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต
“มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมายจากความสำเร็จของไอโฟนในทุกรุ่น ดังนั้น การเปิดตัวไอโฟนใหม่ของแอปเปิ้ลในครั้งนี้จะสามารถสร้างปรากฎการณ์ใหม่ๆได้อีกครั้งอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ดีกรีของความสำเร็จในครั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความเจ๋งของตัวผลิตภัณฑ์มากกว่าปัจจัยอื่นๆ” นายชูฮาน กล่าวทิ้งท้าย