กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
รพ.กรุงเทพ ชวนลดปัจจัย "เสี่ยง" หนุนคนไทยหัวใจแข็งแรงโดย นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
ในสภาวะที่ปัญหาสุขภาพยังคงเป็นตัวเร่งให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าความรุนแรงของโรคยังไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น ตราบใดที่มาตรฐานการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ ยังมีความสุขกับการกิน เที่ยว สังสรรค์ และไม่หมั่นออกกำลังกาย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกไม่นานโรคร้ายกำลังจะมาเยือน
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ นำทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ร่วมไขข้อข้องใจถึงที่มาของโรคหัวใจ จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ ในงาน “Healthy Heart Thailand” ระหว่างวันที่ 14-18 กันยายน 2555 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ บอกว่า ระดับคลอเรสเตอรอล และไขมันที่มากเกินไปจนเกิดการสะสมและอุดตันบริเวณเส้นเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญไม่เพียงพอ เป็นสัญญาณอันตรายที่ส่งผลต่อชีวิต โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน “ผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับปัจจัยเสี่ยง เช่นอายุที่มากขึ้น มีภาวะอ้วน และไขมันสะสม สูบบุหรี่เป็นประจำ มีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดัน ไม่ชอบออกกำลังกาย เกิดความเครียดบ่อยครั้ง ตลอดจนปัจจุัยทางพันธุกรรม ที่เป็นตัวเร่งทำให้กลายเป็นโรคหัวใจในอนาคต” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพกล่าว
จากสถิติของโรคหัวใจในประเทศไทย ยังคงพบอัตราการตายของผู้ป่วยที่ 1 ใน 3 และโรคหัวใจที่เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ โรคหัวใจเป็นโรคที่มีทางป้องกันได้พอสมควร เพียงแต่ต้องการดูแลเอาใจใส่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร นพ.ประดับ เผยว่า อาการแสดงออกถึงโรคหัวใจในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ขณะที่เส้นเลือดเริ่มตีบตันเพียงเล็กน้อย อาจไม่แสดงอาการ จนกระทั่งวันใดหัวใจเริ่มขาดเลือด จะเริ่มมีอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก หรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติให้เห็น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีภาวะเสี่ยงของโรคหัวใจหรือไม่ นพ.ประดับ บอกว่า แพทย์สามารถตรวจสอบด้วยการซักประวัติและผลการตรวจร่างกาย เพื่อดูปัจจัยเสี่ยง ซึ่งหากเข้าข่ายสามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงได้อีกครั้งด้วยเทคนิค EKG หรือการเดินสายพานเพื่อวัดคลื่นหัวใจ เป็นต้น ในกรณีที่พบเส้นเลือดตีบตัน แพทย์จะทำการฉีดสี หรือทำ CT-SCAN เพื่อวางแผนการรักษาด้วยเทคนิคที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยสูง เช่นผ่าตัดบายพาส หรือใช้เทคนิคบอลลูนขยายหลอดเลือด เพราะการปล่อยให้มีไขมัน และลิ่มเลือดสะสมที่เป็นเวลานาน โดยไม่รีบรักษาหรือแก้ไข มีอันตรายถึงชีวิต หรือกลายเป็นสาเหตุของอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต จากเส้นเลือดสมองอุดตันตามมาได้
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยตรวจสอบการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจด้วยระบบไฟฟ้า ตรวจเนื้อสมองที่ผิดปกติจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ การตรวจหลอดเลือดที่คอ เพื่อหาความเสี่ยงที่จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
“การตรวจเจอความผิดปกติแต่เนิ่นๆ ช่วยให้คนไข้รู้ตัว และใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้โรคกำเริบเร็วเกินไป" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพ หรือมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ สามารถเข้าร่วมงาน “Healthy Heart Thailand” ซึ่งภายในงานได้จัดกิจกรรมการดูแลรักษาหัวใจแบบ Pro-Active ผ่าน Healthy Heart Model (4H) ได้แก่ Healthy Heart Active โปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหัวใจโดยนักกายภาพ Healthy Heart Diet โปรแกรมเมนูอาหารเพื่อสุขภาพหัวใจ Healthy Heart Emotion โปรแกรมการเพิ่มภาวะอารมณ์ที่ดีกับหัวใจ และ Healthy Heart dont’s โปรแกรมการลดสิ่งที่ไม่ดีกับหัวใจ โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถตรวจสุขภาพหัวใจ ตรวจประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจ การตรวจคลื่นหัวใจ EKG การตรวจหลอดเลือดที่คอ (Carotid) หาความเสี่ยงที่จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และสามารถนำผลตรวจสุขภาพมาปรึกษาแพทย์หัวใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 14-18 กันยายน 2555 เวลา 11.00-20.00 น. ที่โซนบี ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Contact Center โทร. 1719