กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--ก.ไอซีที
นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในงานแถลงข่าวกิจกรรมการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสารในระดับชุมชนเพื่อมุ่งลดช่องว่างระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน มาตั้งแต่ปี 2550 — 2555 เพื่อติดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชนที่มีความพร้อมและเหมาะสม โดยปัจจุบันสามารถจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ได้เป็นจำนวน 1,880 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และกระทรวงฯ มีแผนที่จะจัดตั้งเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน รวมทั้งยกระดับศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่มีอยู่เดิมให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย
“การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงสารสนเทศให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น สร้างแหล่งเรียนรู้ด้าน ICT และสืบค้นสารสนเทศ พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมด้าน ICT รวมถึงการสร้างห้องเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรับบริการข้อมูลข่าวสาร และบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ตลอดจนสร้างประโยชน์แก่สินค้า และอาชีพของชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมผ่านเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนจึงเป็นกิจกรรมหลักที่จะนำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้” นายณัฐพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการเพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสามารถให้บริการอย่างยั่งยืนตลอดไปนั้น กระทรวงฯ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในหลายๆ ด้าน ซึ่งด้านหนึ่งที่จะดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการที่กระทรวงฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2554 และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว คือ การจัด “กิจกรรมการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้กับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่เป็นศูนย์นำร่อง ซึ่งมีศักยภาพและความเข้มแข็งในการดำเนินงาน จากนั้นจึงมีการขยายผลเพื่อให้ศูนย์ฯ เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ของชุมชนด้วยการใช้สื่อ ICT ที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างมูลค่าสินค้าและบริการของชุมชนผ่านเครือข่ายสังคม (Social Networking) ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) หรือหมายถึงสังคมที่มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชาญฉลาดพร้อมที่จะเป็น “พลเมืองโลก” และ “พลเมืองอาเซียน” ในยุคโลกไร้พรมแดน และรองรับการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 3 ปีข้างหน้า ได้อย่างเต็มภาคภูมิต่อไป