กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ศูนย์วิจัยฯ CCDKM ม.สุโขทัยธรรมาธิราชได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนแห่งเอเชียแปซิฟิค (APTN) พร้อมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสำนักเลขาธิการ APTN เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการประสานงานการใช้สื่อใหม่หรือ ICT เพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค
“ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา” (Research Centre of Development and Communication Knowledge Management : CCDKM) แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสำนักเลขาธิการศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค หรือ Asia Pacific Telecentre Network( APTN) Secretariat) ต่อจากประเทศศรีลังกาซึ่งหมดวาระ โดยตั้งแต่ปี 2555-2557 ประเทศไทยจะทำหน้าที่ดูแลประเทศสมาชิกในเครือข่ายครอบคลุมกว่า 50 ของภูมิภาคและประสานความร่วมมือกับภูมิภาคอื่นๆที่เป็นประเทศสมาชิกอีกกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับประเด็นการใช้ ICT เพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มด้อยโอกาสต่างๆให้สามารถเข้าถึง และใช้ ICT เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมมากที่สุด ทั้งนี้ผอ.ศูนย์วิจัยฯ CCDKM มสธ. : รศ. ดร. กมลรัฐ อินทรทัศน์ ได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งประธาน APTN อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีนางสาวพิมพ์เดือน จาตุรงคกุล ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของ APTN
Asia Pacific Telecentre Network : APTN ก่อตั้งโดยองค์กร United Nations' Economic and Social Commission for the Asia-Pacific หรือ UN-ESCAP มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ ICT เพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาการเข้าถึงและเท่าเทียมให้กับกลุ่มด้อยโอกาสต่างๆในสังคม ทั้งในกลุ่มที่อยู่ห่างไกล และกลุ่มคนเมือง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการจัดตั้งและให้บริการของศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน โดยมุ่งหวังที่จะให้มีการใช้ ICT เพื่อให้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมนั้น รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับฐานราก (community base) จนถึงระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
ศูนย์วิจัยฯ CCDKM มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะที่ปรึกษาโครงการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศได้ร่วมกำหนดนโยบายการใช้ ICT เป็นให้เครื่องมือการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนร่วมกันตั้งแต่ปี 2550โดยร่วมในการให้คำปรึกษา และร่วมดำเนินการในการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของประเทศไทย” หรืออีกชื่อที่เรียกว่า “ไทยเทเลเซ็นเตอร์” (Thai Telecentre) เพื่อประกาศความพร้อมของประเทศไทยที่พร้อมจะเป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ ICT เพื่อการพัฒนากลุ่มด้อยโอกาสต่างๆในประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558
จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนนำร่องในปี 2250 จำนวน 20 ศูนย์ฯ ด้วยศักยภาพและความพร้อมชองชุมชนประกอบกับนโยบายพัฒนาชุมชนด้วยไอซีทีอย่างเป็นรูปธรรมทำให้ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนอยู่กว่า 1,880 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลดช่องว่างทางดิจิตอล ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการตลาด การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ รายได้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การท่องเที่ยวในประเทศไทย ฯลฯ ภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานรากสู่สากล โดยเฉพาะส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตของชุมชนทั่วประเทศไทย
โดยทางคณะผู้บริหาร Telecenter.org ได้พิจารณาให้ รศ.ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ CCDKM
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (APTN) อย่างเป็นทางการเมื่อ 31 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ดร.กมลรัฐ กล่าวว่า “การที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสำนักเลขาธิการศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนแห่งเอเชียแปซิฟิค ในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มประวัติศาสตร์ใหม่ที่มีความสำคัญมากในแวดวงการสื่อสารเพื่อพัฒนาของประเทศไทย ใน 5 ปีที่ผ่านมา CCDKM ได้ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาทางวิชการ ควบคู่กับการกำหนดนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้ ICT เพื่อการพัฒนา โดยใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นฐานรากที่สำคัญในการขยายศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากพันธกิจหลัก คือการลดช่องว่างเกี่ยวกับดิจิตอลให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมไทย Digital Divide ควบคู่กับการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งตั้งแต่ส่งเสริมอาชีพ รายได้ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า สนับสนุนการท่องเที่ยวของชุมชนตลอดจนขยายออกไปสู่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ต้องขังหญิง กลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯ โดยนำไอซีทีมาขับเคลื่อนในการพัฒนาชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ มาวันนี้เราจะนำศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนและชาวไทยก้าวสู่ระดับเวทีโลก”
ดร.กมลรัฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน CCDKM ได้ออกแบบ Communication Platform เพื่อเสริมศักยภาพด้านไอซีทีให้กับชุมชน ได้แก่ ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวชุมชน(www.ThaiCommunitiesTour) ส่งเสริมด้านร้านค้าชุมชน (www.ThaiTelecentreCharms.com) ส่งเสริมการเป็นพลเมืองคุณภาพ (E-Citizen) และ ส่งเสริมเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านเว็บทีวี (www.TelecentreChannel.org) และการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยไอซีที เช่น สถาบันไอซีทีชุมชนออนไลน์ประเทศไทย (www.ICTlearning.org/academy) ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้ชุมชนก้าวต่อสู่ประชาคมอาเซียน (www.ICTAseanAcademy.org ) CCDKM หวังว่าทุกๆโครงการที่เราสร้างมาจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืนเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 58นี้”