ชาวอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ขานรับการจัดตั้ง “มูลนิธิสุวรรณภูมิ” และผลักดัน “สถาบันสุวรรณภูมิ”เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง

ข่าวท่องเที่ยว Friday September 14, 2012 18:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--อพท. วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ เทศบาลตำบลอู่ทอง จัดประชุมเสวนาตามโครงการ “จัดเวทีสาธารณะเมืองโบราณอู่ทอง และการประชุมประจำเดือน (ท่องเที่ยว) ครั้งที่ ๓” ซึ่ง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สนับสนุนงบประมาณ จัดขึ้นที่ห้องประชุมอาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เทศบาลตำบลอู่ทอง มีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งสิ้น ๔๐ คน บรรยากาศการประชุม นายสุบิน วิเชียรศรี ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลตำบลอู่ทองกล่าวแนะนำผู้ร่วมประชุมทั้งหมด และนายนิยม ภานุมาสวิวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลอู่ทอง กล่าวต้อนรับและแจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ซึ่งทุกฝ่ายต่างแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรศึกษาเรียนรู้และพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง การจัดตั้งมูลนิธิสุวรรณภูมิ รวมทั้งสนุกสนานกับการร้องเพลงซึ่ง นายศิวะกานท์ ปทุมสูติ ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโบราณอู่ทองและดินแดนสุวรรณภูมิเป็นบทเพลงจำนวน ๓ เพลง นายศิวะกานท์ ปทุมสูติ เปิดการประชุมเวทีสาธารณะเมืองโบราณอู่ทอง และการประชุมประจำเดือน (ท่องเที่ยว) ครั้งที่ ๓ พร้อมกับกล่าวว่า จากการประชุมเวทีสาธารณะฯ ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต้องการให้ อพท. แต่งตั้ง คณะกรรมการอู่ทองศึกษาและพัฒนาเมืองโบราณสุวรรณภูมิ (กศส.) เพื่อมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน คือ ๑. วางแผนแม่บทขับเคลื่อนโดย กศส. ๑.๑ แผนงานก่อสร้างประติมากรรมสัญลักษณ์ อันเป็นกุญแจแห่งการเรียนรู้ “อู่ทองเมืองโบราณสุวรรณภูมิ” ๑.๒ แผนงานพัฒนา “ลำน้ำจระเข้สามพัน” ให้เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการเรียนรู้ แม้ทุกฝ่ายทราบว่า แม่น้ำจระเข้สามพัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลจรเข้สามพัน อยู่นอกเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ไม่อาจปฏิเสธถึงความสำคัญของแม่น้ำจระเข้สามพันที่มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองได้ ๑.๓ แผนงานจัดทำสื่อและเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ ๑.๔ แผนงานเสนอให้จัดตั้งองค์กรจัดการเรียนรู้เชิงอนุรักษ์และพัฒนาเกี่ยวกับเมืองโบราณ อู่ทอง โดยจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสร้างสรรค์การศึกษา รวมทั้งจัดทำสื่อและจัดให้มีอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการศึกษา มีการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้ทรัพยากรบุคคลไปสู่ท้องถิ่น และจัดกิจกรรมด้านประชาสัมพันธ์ทั้งองคาพยพ โดยจะขับเคลื่อนไปพร้อมการดำเนินการของเทศบาลตำบลอู่ทอง เทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง วัด กรมศิลปากร สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.๗) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ๒. การมีส่วนร่วมวางแผนกับหน่วยงานและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ และวิถีชุมชน ๒.๑ แผนงานพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้สอดคล้องกับส่วนการพัฒนาอื่น ๆ เนื่องจากที่ประชุมเห็นควรว่า ต้องปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตั้งแต่ด้านหน้าประตูทางเข้าให้ดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวอยากจะเดินเข้าไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ๒.๒ แผนงานพัฒนาบุคลากรเพื่อเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและเป็นไปในทิศทางสร้างสรรค์หนึ่งเดียวกัน ๒.๓ แผนงานพัฒนาสื่อและเครื่องมือประกอบการเรียนรู้อย่างมีเอกภาพร่วมกันกับ “มูลนิธิสุวรรณภูมิ” ๒.๔ แผนงานการมีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตวิถีชุมชน โดยจัดให้มีกิจกรรมนำร่องรณรงค์ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น การทำแผนการเรียนรู้แหล่งอารยธรรม การจัดทำโปสเตอร์และแผ่นพับประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณอู่ทอง ๓. การจัดทำหนังสือและสื่ออื่นๆ ศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น รองรับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่ประชุมเห็นควรนำเพลงมาเป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจกับคนในท้องถิ่น ขณะที่ การศึกษานอกโรงเรียนอู่ทอง เสนอว่า ควรมีการจัดทำหลักสูตรวิชาเลือกการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และจัดทำตำราเรียนที่สามารถยึดเป็นหลักสูตรได้ นายสัจภูมิ ละออ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้สื่อข่าวไทยรัฐ กล่าวว่า กศส. ควรจะมีบทบาทในการร่วมสำรวจแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ร่วมกับนักวิชาการของกรมศิลปากร และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ตัวแทนชาวอู่ทองได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านไปพร้อมกัน เช่น กรณีคอกช้างดิน ดึงนักวิชาการและเอาข้อมูลทั้งหมดมาร่วมกันศึกษา นายวงเดือน ทองเจียว ผู้เชี่ยวชาญด้านงานแกะสลัก ประวัติศาสตร์เมืองโบราณอู่ทอง และคอลัมน์นิสต์ในหนังสือสยามรัฐและมติชน กล่าวว่า การพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองไม่อาจทิ้งลำน้ำจระเข้สามพันไปได้ เพราะความเป็นมาของเมืองมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับแม่น้ำจระเข้สามพัน อีกทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพระเจ้าอู่ทองว่าคือใคร ยังเป็นสิ่งที่สร้างความสับสนและยังถูกมองว่าเป็นบุคคลลึกลับ หลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏพบล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสมมุติ ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงสามารถเปลี่ยนไปเรี่อย ๆ ตามหลักฐานที่เรามี และขึ้นอยู่กับคนเขียนประวัติศาสตร์นั้น ๆ ว่ามีทัศนคติต่องานเขียนนั้นอย่างไร และน่าแปลกใจมากสำหรับสวนหินพุหางนาคที่ตกสำรวจมานาน เพราะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในปุษยคิริ ๕ ขุนเขา มัคคุเทศก์จากชุมชนคนรักป่าพุหางนาคสำรวจพบฐานเจดีย์อยู่ข้างบน ว่ากันว่าทุกยอดเขาในเมืองโบราณอู่ทองมีเจดีย์ แต่ ศาสตราจารย์ ช็อง บวสเซลีเย่ร์ (M. Jean Boisselier) ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส สำรวจยังไม่ครบยังไปไม่ถึงยอดเจดีย์อีกหลายแห่ง ซึ่งน่าแปลกใจว่าเหตุใดจึงนับเจดีย์หมายเลข ๑ อยู่ข้างล่าง ทั้งนี้ เจดีย์ ๒ องค์ที่อยู่บนพุหางนาคนั่นก็อาจจะบอกได้ว่า พระโสณะและพระอุตระมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและเดินทางมาเมืองอู่ทอง เพราะเจดีย์ทั้ง ๒ เป็นเจดีย์ใหญ่โตมโหฬารมาก ต้องเดินเท้าจากสำนักสงฆ์พุหางนาคขึ้นไปข้างบนใช้เวลาไปกลับกว่า ๒ ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่เมืองที่มีการพัฒนาสู่ระดับมรดกโลก จะต้องไม่ก้าวข้ามผ่านวิถีชีวิตที่แท้จริงของคนอู่ทอง อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า เมืองโบราณอู่ทองที่ถูกทิ้งร้าง ไม่เคยร้างราจากผู้คน เพียงแต่ความเป็นเมืองค่อย ๆ ลดบทบาทลง เมืองอู่ทองในอดีตไม่ใช่เมืองเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่อลังการมาก คนสุวรรณภูมิในสมัยนั้นมีความก้าวหน้าในการค้าขาย มีผู้คนต่างทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาค้าขายอยู่ในเมืองเต็มไปหมด เพียงแต่ว่าในยุคนั้นยังไม่มีการใช้ตัวอักษร จึงไม่มีจารึกทางประวัติศาสตร์ โดยผู้คนไกลโพ้นทะเลในสมัยนั้นเรียกดินแดนนี้ว่าแผ่นดินทองหรือ “สุวรรณภูมิ” ส่วนเรื่องศูนย์กลางการเป็นเมืองจะมีหรือไม่ ยังไม่มีใครให้คำตอบนี้ได้ นายสุเมธ ภูรีศรีศักดิ์ รักษาการ ผจก.พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ชี้แจงถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง สถาบันสุวรรณภูมิ ว่าได้หารือระดับจังหวัดแล้วสรุปว่าจะจัดตั้งเป็น “มูลนิธิสุวรรณภูมิ” และจากการ รับฟังเวทีสาธารณะเมืองโบราณอู่ทองและการประชุมประจำเดือน (ท่องเที่ยว) ครั้งที่ ๓ ในครั้งนี้ ทำให้ทราบความต้องการของทุกภาคส่วนที่ต้องการผลักดัน “สถาบันอู่ทองศึกษา” ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะมูลนิธิสุวรรณภูมิจะผลักดันในระดับจังหวัดจากบนลงล่าง ส่วนสถาบันอู่ทองศึกษาจะทำหน้าที่ผลักดันจากล่างขึ้นบน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะอาศัยเพียงเทศบาลตำบลอู่ทองและเทศบาลท้าวอู่ทองดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ จะต้องดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม และไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะชาวอู่ทองเท่านั้น แต่จะต้องผลักดันในระดับภูมิภาค จะมีการจัดตั้ง สมาคมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง ดึง ชุมชนคนรักป่าพุหางนาค ชมรมขี่จักรยาน และชมรมอื่น ๆ เข้าร่วม เพราะสุดท้ายแล้วทั้งหมดก็จะถูกผลักดันอยู่ในมูลนิธิสุวรรณภูมิ โดยมีสถาบันและสมาคมต่าง ๆ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ มีการรวบรวมจดหมายเหตุ หอศิลป์ร่วมสมัยเพื่อรองรับศิลปินและนักแสดงต่าง ๆ และต้นแบบแนวคิดที่สร้างสรรค์ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะยังคงอยู่ต่อไป แต่หอศิลป์ร่วมสมัยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่จะรองรับตอบโจทย์ความเป็นชุมชน และจะจัดให้มีลานอุทยานสุวรรณภูมิเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งแสดงประติมากรรมที่สะท้อนความเป็นเมืองโบราณอู่ทองที่สร้างสรรค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาถ่ายรูปที่แสดงสัญลักษณ์ของเมือง มีการสนับสนุนทางวิชาการ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ นายศิวะกานท์ ปทุมสูติ และผู้ร่วมประชุมเวทีสาธารณะ มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ก่อนที่จะดำเนินการจัดตั้ง มูลนิธิสุวรรณภูมิ ควรนำร่างการจดทะเบียนการจัดตั้งมูลนิธิมาหารือในเวทีสาธารณะเมืองโบราณอู่ทองก่อน ซึ่ง คณะกรรมการอู่ทองศึกษาและพัฒนาเมืองโบราณสุวรรณภูมิ (กศส.) น่าจะมีส่วนร่วมร่างการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิด้วย นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาพื้นที่ควรพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมโดยไม่ได้มองแค่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีเป้าหมายการดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งจะเข้าไปจัดการท่องเที่ยวพุหางนาคกันอย่างไรเพื่อรองรับการหลั่งไหลของจำนวนนักท่องเที่ยว และควรจัดประชาพิจารณ์ในท้องถิ่น เพราะเมืองโบราณอู่ทองเป็นฐานยิงจรวดทางความคิด ก็ต้องให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม สิ่งสำคัญคือ ทุกครั้งที่เราเสวนาหรือประชาพิจารณ์จะต้องสรุปให้ได้ว่าพรุ่งนี้เราจะทำอะไรกันต่อ และจะส่งต่อคุณค่าได้อย่างไร พร้อมกับเสนอให้เทศบาลตำบลอู่ทองเป็นกองบัญชาการ และจัดตั้งคณะกรรมการ กศส. โดยเกาะเกี่ยวกันไว้เพื่อช่วยกันพิจารณาการจัดตั้งมูลนิธิสุวรรณภูมิและสถาบันสุวรรณภูมิ นายสุเมธ ภูรีศรีศักดิ์ รักษาการ ผจก.พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดตั้งมูลนิธิสุวรรณภูมิ ว่าลำดับต่อไปจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดตั้งมูลนิธิสุวรรณภูมิ โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์และองค์ประกอบของคณะกรรมการ รวมทั้งการจัดหาสถานที่ตั้ง ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินการจะมีการจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ด้วย การจัดตั้งของมูลนิธิจะมีการใช้เงินตั้งต้นจาก อพท. ซึ่งดำเนินการได้ไวกว่าเพราะมีงบประมาณรองรับ นายพิสิทธิ์ ลีรัตนนุรัตน์ นักธุรกิจในอำเภออู่ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกปัดทวารวดีและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาชญากรรม กล่าวว่า เนื่องจากโครงสร้างของมูลนิธิสุวรรณภูมิค่อนข้างใหญ่มาก ควรจะมีตัวแทนจากคนอู่ทองเข้าไปอยู่เป็นคณะกรรมการด้วย นอกจากนี้ เรื่องลูกปัดทวารวดีก็เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองโบราณอู่ทอง ควรมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องลูกปัดทวารวดีให้มีความลึกซึ้งด้วยเช่นกัน นายวรณัย พงศาชลากร นักวิชาการอิสระทางมานุษยวิทยาและผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เห็นด้วยที่จะต้องมีการศึกษาข้อคว้าเรื่องลูกปัดทวารวดี นอกจากนี้ ควรมีการจัด Press Tour พาสื่อมวลชนมาท่องเที่ยวเพื่อให้สื่อมวลชนมีความรู้และสามารถแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองโบราณอู่ทองได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งจัดทำแบบสอบถามความพึงพอใจต่อผู้ใช้บริการที่สวนหินพุหางนาคเพื่อจะได้ทราบว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวได้รับรู้ข่าวสารการท่องเที่ยวจากสื่อใดมากที่สุด เพื่อจะได้ประชาสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง นายนิยม ภานุมาสวิวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลอู่ทอง กล่าวว่า เทศบาลอู่ทองขอจุดประกายการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง ด้วยการเปิด เว็บไซต์เทศบาลตำบลอู่ทอง ก่อนเป็นอันดับแรก และจะดำเนินการรวบรวมความรู้ทางวิชาการในกรอบสุวรรณภูมิเพื่อสนองต่อ “สถาบันสุวรรณภูมิ” และ “มูลนิธิสุวรรณภูมิ” ว่าแนวคิดของกรมศิลปากร การบริหารการพัฒนาเมืองของ อพท. และภาคประชาชนรากหญ้าคนอู่ทองอยากจะพัฒนาเมืองอย่างไรบ้าง เทศบาลตำบลอู่ทองยินดีจะรับดำเนินการทั้งหมด รวมทั้งจะร่วมรักษาโบราณสถานให้คงอยู่สืบไป และกระตุ้นให้ชาวอู่ทองรับรู้และเข้าใจอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อทั้งวิทยุและวารสาร โดยดึงสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งต่อไปเมืองโบราณอู่ทองจะมีพระแกะสลักองค์ใหญ่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ถนนเส้นมาลัยแมนถือเป็นถนนสายหลักของเมืองควรสร้างสัญลักษณ์อะไรที่ทำให้คนเกิดการจดจำ เช่น ตัวแทนกษัตริย์เมืองอู่ทอง นำลูกปัดทวารวดีมาร้อยเรียงสร้างเรื่องราว เหรียญโรมัน เป็นต้น และถ้าทุกภาคส่วนเห็นควรจะใช้พื้นที่ใดในตำบลอู่ทองพัฒนาเมือง เทศบาลตำบลอู่ทองพร้อมยินดีขยับพื้นที่ให้ นายสุบิน วิเชียรศรี ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลตำบลอู่ทอง กล่าวว่า ถ้าเทศบาลตำบล อู่ทอง และเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง จัดงานประเพณี ๒ เทศบาลร่วมกัน จะส่งผลดีต่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสามารถจัดงานที่ใหญ่กว่าจัดเพียงเทศบาลเดียว นอกจากนี้ นายสุบินยังถามความคิดเห็นต่อ ประธานคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อพระยาจักร ต่อกรณี อพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความสนใจใช้พื้นที่ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรเป็นสถานที่เปิดตัวการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง โดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะร่วมกับ เทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างความคุ้นเคยในพื้นที่ FAM Trip (Familiarization Trip) โดยเชิญเจ้าหน้าที่ตัวแทนการท่องเที่ยวและเอเย่นต์รวมทั้งสื่อมวลชนเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นายนิยม ภานุมาสวิวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลอู่ทอง กล่าวว่า จะมีการจัดนิทรรศการที่ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรและศูนย์เรียนรู้ ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นว่าหากใช้พื้นที่ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรน่าจะมีความเหมาะสม เพราะอยู่ใจกลางที่มีประชาชนเดินทางผ่านไปมาจำนวนมาก นายศุภชัย เงาวัฒนาประทีป ประธานคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อพระยาจักร กล่าวว่า ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรไม่ขัดข้องและพร้อมมีส่วนร่วม นายทองสุข เหลืองเวชการ เจ้าของตลาด TPJ Square กล่าวว่า ตลาด TPJ Square ซึ่งอยู่ใกล้กับศาลเจ้าพระยาจักร ยินดีช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดนิทรรศการ ซึ่ง TPJ Square ในอนาคตก็จะเปิดเป็นถนนคนเดินอีกด้วย ทั้งนี้ ผลการประชุมเสวนาตามโครงการ “จัดเวทีสาธารณะเมืองโบราณอู่ทอง และการประชุมประจำเดือน (ท่องเที่ยว) ครั้งที่ ๓” ยังได้มีการเลือกประธานคณะกรรมการอู่ทองศึกษาและพัฒนาเมืองโบราณสุวรรณภูมิ (กศส.) โดยที่ประชุมเห็นด้วยที่จะแต่งตั้ง นายศิวะกานท์ ปทุมสูติ เป็นประธาน กศส. และให้ นายนิยม ภานุมาสวิวัฒน์ นายกเทศบาลตำบลอู่ทอง และน.ส.ฉัฐพนิต มยูขโชติ นายกเทศมนตรีตำบลท้าวอู่ทอง ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการและฝ่ายธุรการร่วมกัน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวทีสาธารณะในครั้งนี้ถือว่าเป็นคณะกรรมการ กศส.ทุกคน และกำหนดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการ กศส. วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ เทศบาลตำบลอู่ทอง พร้อมกำหนดวาระการประชุมไม่ควรน้อยกว่า ๑ ครั้งต่อเดือน และสามารถเรียกประชุมเร่งด่วนได้โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความจำเป็น ติดต่อสอบถามได้ที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.๗) โทร.๐๘ ๔๑๖๓ ๗๕๙๙

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ