กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--อพท.
วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ เวลา ๙.๓๐-๑๒.๓๐ น. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.๗) และเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง ร่วมจัดประชุม “การเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวและแนวทางการพัฒนาสวนหินพุหางนาค” โดยมี นายสุธรรม ยิ้มละมัย นายอำเภออู่ทอง เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมชั้น ๒ เทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น ๕๐ คน
นายสุธรรม ยิ้มละมัย นายอำเภออู่ทอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองมีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ต้องยอมรับว่าเจดีย์และสถูปถูกทำลายจำนวนมาก อีกทั้งสวนหินพุหางนาคมีปรากฏการณ์สวนหินที่มีทั้งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในอดีตและการทับถมของชั้นหินตามธรรมชาติ ซึ่งจำเป็นจะต้องเร่งศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยา เพื่อให้มัคคุเทศก์และชมรมคนรักป่าพุหางนาคได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง มีความจำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศเทียบเคียงด้วย รวมทั้งบันทึกทางประวัติศาสตร์ การสืบทอดข้อมูลแบบปากต่อปาก
โดยอำเภออู่ทองจะเน้นประชาสัมพันธ์คูเมืองโบราณอู่ทองและสวนหินพุหางนาคเป็นไฮไลท์สำคัญ การมี องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และส่งผ่านนโยบายมาที่ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.๗) จะช่วยให้การพัฒนาเมืองมีความคล่องตัวมากขึ้น และได้ทราบว่า อพท. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง หากมีการรวบแผนการพัฒนาพื้นที่สวนหินพุหางนาคเข้าไปบรรจุด้วยจะเกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการพื้นที่ อำเภออู่ทอง ได้รับรายงานว่ามีการลักลอบขโมยหิน จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันป้องกันและปราบปรามผู้ลักลอบนำหินไปขาย รวมทั้งช่วยกันบริหารจัดการงบประมาณในการพัฒนาสวนหินพุหางนาค เช่น หากหน่วยงานใดไม่สามารถผลักดันงบประมาณมาดำเนินการ ก็หารือกันว่าจะหางบประมาณจากหน่วยงานอื่นได้อย่างไร เพื่อให้การทำงานร่วมกันเกิดความคล่องตัว โดยเทศบาลตำบลอู่ทองและเทศบาลตำบลท้าวอู่ทองจะต้องประสานงบประมาณร่วมกัน รวมทั้งงบประมาณจาก อพท. ให้ช่วยกันดูว่าจะใช้งบประมาณกันอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า
นายสุเมธ ภูรีศรีศักดิ์ รักษาการผู้จัดการพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.๗) ชี้แจงว่า การประชุมครั้งนี้ จะนำข้อมูลไปจัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นจะต้องทราบสาเหตุของปัญหาการพัฒนาสวนหินพุหางนาคในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสวนหินพุหางนาค ซึ่งการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองมรดกโลกจะขึ้นทะเบียนเฉพาะคูเมืองโบราณอู่ทอง จะมีแผนการพัฒนาและจัดโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ชัดเจน ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่สวนหินพุหางนาค เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์และมีความซับซ้อนของพื้นที่ เพราะเดิมพุหางนาคมีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นสวนหิน แต่ขณะนี้มีการค้นพบเจดีย์อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะพัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในอนาคตได้ ยกตัวอย่างเช่น อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี หากการพัฒนาการท่องเที่ยวดำเนินการโดยลำพังของภาครัฐและไม่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็จะส่งผลโดยตรงต่องบประมาณที่มีอย่างจำกัดในการบริหารจัดการพื้นที่ ดังนั้น การมีเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จะทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นโอกาสในการพัฒนาและข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการผลักดันเรื่องต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น
โดยวนอุทยานพุม่วงมีการจัดการอนุรักษ์และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องบันทึกคนเข้าเยี่ยมชมวนอุทยานพุม่วง หากมีการจัดระบบการอำนวยความสะดวกและการขึ้นทะเบียนนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ก็จะส่งผลดีต่อวนอุทยานพุม่วงเรื่องตัวชี้วัดด้านการให้บริการประชาชนซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามและประเมินผล ทั้งนี้ การดำเนินการของ อพท.จะต้องรายงานสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ ดังนั้น แผนระยะต้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่เกิดจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะส่งผลต่องบประมาณในการบริหารจัดการในพื้นที่ การเป็นเมืองประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะช่วยสร้างเสน่ห์แก่พื้นที่ และจะเปิดศูนย์การเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และดึงผู้คนจากทุกสารทิศให้มาพำนักอยู่ในตำบลอู่ทองได้นานขึ้นและเกิดรายได้หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งสวนหินพุหางนาคควรที่จะจัดโปรแกรมเดินชมสวนหินพุหางนาค มีการอบรมผู้นำทางเป็นประจำทุกปี โดย อพท. และวนอุทยานพุม่วง ร่วมจัดอบรมมัคคุเทศก์นำทางขึ้นสวนหินพุหางนาค เพื่อรับรองอาชีพมัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้ถูกต้อง รวมทั้งดึงเอาผลิตภัณฑ์ของดีชุมชนเข้ามารับรองมาตรฐาน
นายชัชวาล เอี่ยมตาก หัวหน้าวนอุทยานพุม่วง กล่าวว่า สวนหินพุหางนาคในส่วนที่เป็นภูเขาสูง และสวนหินขนาดใหญ่อยู่ในเขตวนอุทยานพุม่วง อุทยานพุม่วงมีอาณาเขตรวมพื้นที่ ๑,๗๒๕ ไร่ แต่ก่อนพื้นที่พุหางนาคถูกปกคลุมด้วยต้นไม้และวัชพืช ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุพรรณบุรี ได้ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์สวนหิน พุหางนาคจึงมีการพัฒนาพื้นที่ และได้มีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นสวนหินที่เกิดจากการทับถมของลาวาภูเขาไฟหลายล้านปีมาแล้ว ส่วนการลักลอบขุดหินได้รับทราบข่าวแล้ว จากการตรวจสอบพบว่าเหตุเกิดนอกพื้นที่วนอุทยานพุม่วงโดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงประสานให้กรมป่าไม้ช่วยตรวจสอบรายละเอียด ส่วนเรื่องการบริหารจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมาวนอุทยานพุม่วงได้จัดเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานพุม่วงไปประจำสำนักสงฆ์พุหางนาคเป็นประจำทุกวันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนในวันธรรมดาไม่ได้จัดเจ้าหน้าที่ไปอำนวยความสะดวกเพราะมีข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ และได้จัดให้มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไว้ ซึ่งวนอุทยานพุม่วงมีภารกิจหลักดังนี้ ๑) ป้องกันดูแลรักษาพื้นที่ ๒) บริหารจัดการเรื่องการท่องเที่ยว และจัดให้มีการศึกษาวิจัยในพื้นที่ ซึ่งยังติดขัดเรื่องงบประมาณเพราะได้รับการอุดหนุนจำนวนน้อย จึงมีความประสงค์จะทำเรื่องผ่าน อพท. ขอสนับสนุนในการจัดสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่สำนักสงฆ์พุหางนาค และจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พร้อมทำป้ายสื่อความหมายแก่นักท่องเที่ยว นอกจากนี้ วนอุทยานพุม่วงยังได้เชิญกลุ่มผู้เลี้ยงวัวมาประชุมร่วมกันแล้ว เพื่อกำหนดแนวทางข้อปฏิบัติในบริเวณสวนหิน พุหางนาค
นายประเสริฐ ม่วงอยู่ หัวหน้าศูนย์ประสานงานป่าไม้สุพรรณบุรี กล่าวว่า ป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ ๑,๓๔๐ ไร่ เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ สวนหินพุหางนาคมีพื้นที่ที่เป็นเขตของกรมป่าไม้ต่อเชื่อมกันอยู่กับวนอุทยานพุม่วง ส่วนใหญ่เป็นที่ตามไหล่เขา ป่าปรงดึกดำบรรพ์และสวนหินขนาดเล็ก ซึ่งป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรีได้เขียนแผนงานในปีหน้าไว้แล้วว่าจะพัฒนาโครงการป่าชุมชน โดยให้คนในชุมชนบ้านศรีสรรเพชรเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาป่าไม้และจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะดำเนินการจัดทำเส้นทางสวนป่าเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวชมสวนหินและพันธุ์ไม้ ซึ่งป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรีต้องการจะปลูกต้นไม้และดอกไม้เสริมเพิ่มเติมให้สวยงาม โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมอย่างดอกสุพรรณิการ์ ดอกพุทธป่า และดอกงิ้ว รวมทั้งจะจัดให้มีโฮมสเตย์สนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้และร่วมรักษาป่าไปพร้อมกัน ที่ผ่านมา ชาวบ้านก็มีส่วนสำคัญในการช่วยป่าไม้ทำแนวป้องกันไฟป่าและช่วยดับไฟป่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรีก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเช่นกัน
ทั้งนี้ ตัวแทนจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ชี้แจงระหว่างการประชุมว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี จะนำคณะจากกรมทรัพยากรธรณีเข้าตรวจสอบสวนหินและหินตั้งอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจเกี่ยวกับหินและอายุของชั้นหินที่พบในพุหางนาคอย่างถูกต้อง ส่วนเรื่องการขุดเจาะน้ำบาดาลนั้น บริเวณพุหางนาคมีปริมาณการไหลของน้ำบาดาลน้อย ถ้าจะขุดเจาะต้องเจาะอย่างน้อย ๒-๓ บ่อ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ถ่ายโอนอำนาจการพิจารณาขุดเจาะให้ท้องถิ่นไปเรียบร้อยแล้ว โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเคยสำรวจบ่อน้ำบริเวณใกล้เคียงสวนหินพุหางนาคช่วงวงเวียนวัดเขาพระ ความเร็วของน้ำ ๔ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ค่าใช้จ่าย ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากอยู่ในเขตวนอุทยานพุม่วงหรือในเขตป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ ก็ต้องทำเรื่องเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบก่อน ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบบริเวณที่ตั้งสำนักสงฆ์พุหางนาคอยู่ในเขตของวนอุทยานพุม่วง แต่บริเวณลานจอดรถเป็นของกรมป่าไม้ ซึ่งการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำใช้และการบริหารจัดการที่จอดรถจะต้องแก้ไขเป็นองค์รวม โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ชมรมคนรักป่าพุหางนาคสำรวจความต้องการใช้น้ำในภาพรวม และให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจข้อเท็จจริง โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่นในการขุดเจาะ การติดตั้งแท็งก์น้ำ รวมทั้งจัดการเรื่องไฟฟ้า โดยให้ประสานงานกันเบื้องต้นก่อน ส่วนความคืบหน้าเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่จะนำมาหารือกันอีกครั้ง
นายภาคภูมิ จิตต์โสภณ ผู้ก่อตั้งชุมชนคนรักป่าพุหางนาคและผู้อำนวยการสถานีวิทยุเพื่อการท่องเที่ยวเมืองอู่ทอง มะขามขวัญเรดิโอ FM 91.75 MHz กล่าวว่า พุหางนาคมีความโดดเด่นอยู่ ๒ ประการคือ ๑.เป็นสวนหินธรรมชาติ และ ๒.มีโบราณสถาน ที่ถูกค้นพบขึ้นใหม่ในปีนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยกระจายตัวอยู่ตามยอดเขาถึง ๓๐ จุด นอกจากนี้ บริเวณวัดเขาทำเทียมและวัดเขาถ้ำเสือยังสำรวจเพิ่มอีก ๗ จุด โดยเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๕ ได้รับรายงานจากทีมขุดสำรวจหินตั้งของ อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบกะโหลกศีรษะมนุษย์บรรจุอยู่ในวัตถุดินเผาบริเวณเหนือโรงโม่ ส่วนความคืบหน้าสวนหินพุหางนาคด้านการบริการนักท่องเที่ยวได้มีการจัดทำโครงการมัคคุเทศก์น้อยโดยใช้สถานีวิทยุมะขามขวัญเรดิโอเป็นสื่อในการปลูกฝังเยาวชนร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ โดยมีเยาวชนจำนวน ๑๗ คน อาสามาเป็นผู้นำทางนักท่องเที่ยวเที่ยวชมความงามพุหางนาค ซึ่งก่อนจะจัดทริปก็มีการจัดอบรมเป็นเวลา ๒ วัน เพราะวันที่ ๑-๒ กันยายนนี้ เราจะต้องจัดเบี้ยเลี้ยงให้มัคคุเทศก์นำทาง ปัญหาที่พบคือแหล่งน้ำ ที่ผ่านมาสำนักสงฆ์พุหางนาคและผู้นำทางใช้น้ำฝนที่เก็บไว้ พอถึงช่วงหน้าแล้งก็ขอเทศบาลท้าวอู่ทองมาเติมน้ำในแท็งก์ หากมีการขุดเจาะน้ำบาดาลจะดีมาก นอกจากนี้ เกิดปัญหาต้นไม้ที่ร่วมปลูกป่าโดนวัวเหยียบและกัดกินทำลาย
ส่วนเรื่องขยะที่สำนักสงฆ์พุหางนาค ชุมชนคนรักป่าพุหางนาคได้ทำการคัดแยกขยะและได้ทำการเผาขยะที่สามารถเผาได้ไปเบื้องต้น ซึ่งเทศบาลท้าวอู่ทองจะจัดรถเก็บขยะไปเก็บทุกเช้าวันจันทร์ พร้อมกับจัดหาถังขยะให้สำนักสงฆ์และสวนหินพุหางนาค
นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี กล่าวถึงเรื่องโบราณสถานในเขตพุหางนาคว่า ในปัจจุบันมีนักวิชาการเสนอข้อสันนิษฐาน เกี่ยวกับโบราณสถานเหล่านี้ต่างกันออกไป เช่น บางท่านกล่าวว่า เป็นลักษณะของหินตั้งซึ่งเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ ที่นำก้อนหินมาเรียงซ้อนกัน โดยมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อพื้นถิ่นในเรื่องของผี ซึ่งเป็นคติที่นับถือกันมาในช่วงก่อนที่ศาสนาจะเข้ามา บางท่านเชื่อว่าเป็นลักษณะของการสร้างเป็นป้อมหรือหอ สำหรับส่งสัญญาณไฟและควันเพื่อใช้เป็น Landmark ในการเดินเรือสมัยโบราณ อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการสำรวจของนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี พบว่าสิ่งก่อสร้างโบราณในพุหางนาคมีอยู่หลายลักษณะทั้งการนำหินมาเรียงเป็นฐานอาคาร หรือ ห้องที่มีผนัง ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับบริเวณโบราณสถานคอกช้างดิน ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๑ - ๒ กิโลเมตร ซึ่งข้อมูลของโบราณสถานคอกช้างดิน เป็นโบราณสถานเนื่องในศาสนาฮินดู โดยมีการค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นรูปแบบเคารพของพระศิวะที่ก่อเป็นเจ้าแห่งภูเขา อันแสดงถึงการแบ่งพื้นที่ทางศาสนาของเมืองโบราณอู่ทองว่าในตัวเมืองเป็นเขตศาสนสถานในพุทธศาสนา ส่วนพื้นที่นอกเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเขตพื้นที่ศาสนสถานฮินดู นอกจากนี้ โบราณสถานที่พุหางนาคบางแห่ง ยังอาจเป็นงานสถาปัตยกรรมประเภทสถูปเจดีย์ในสมัยทวารวดีด้วย อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณนี้ในสมัยอยุธยาก็ยังมีความสำคัญอยู่ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่าที่จะไปยังกรุงศรีอยุธยา โบราณสถานที่พุหางนาคจึงอาจมีความสัมพันธ์กับเรื่องนี้ในลักษณะของป้อมดูข้าศึกเพื่อส่งสัญญาณไปยังจุดอื่นๆด้วยก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี ยังขอความอนุเคราะห์จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้นำทางช่วยกรุณาห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเคลื่อนย้ายก้อนหินหรือโบราณวัตถุออกจากตำแหน่งเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับโบราณสถาน
ส่วนเรื่องความต้องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเมืองโบราณอู่ทองนั้น อยากให้มีการพิจารณาถึงข้อดี — ข้อเสีย ในการเป็นมรดกโลก โดยชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับฟัง เพราะว่าเป็นมรดกโลก อาจจะต้องมีการจำกัดสิทธิบางประการ เช่น ต้องมีการควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการบุกรุกทำลาย การจำกัดสิทธิในด้านการใช้ประโยชน์จากพื้นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องนี้จำเป็นต้องให้ความรู้กับชาวบ้านอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาดังเช่น ตัวอย่างจากการทำประชาพิจารณ์ที่พระปฐมเจดีย์ ที่มีชาวบ้านต่อต้านเนื่องจากเกรงว่าจะทำการค้าขายไม่ได้ การศึกษาเพื่อเตรียมการเข้าสู่มรดกโลกจึงจำเป็นต้องมีความรอบคอบ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนของอู่ทอง และจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง
นางสาวฉัฐพนิต มยูขโชติ นายกเทศมนตรีตำบลท้าวอู่ทอง และ นายนิยม ภานุมาสวิวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลอู่ทอง มีความเห็นสอดคล้องกันว่าทั้ง ๒ เทศบาลมีเส้นแบ่งเขตบริหารงานที่ชัดเจน แต่การพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองร่วมกัน ต้องมองในภาพรวมจะไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน เราจะทำงานร่วมกัน โดยมองภาพแนวเขาถ้ำเสือ เขาทำเทียม เขาพุหางนาค เขาพระ เป็นฉากหลังไล่เรียง จนถึงคูเมืองโบราณ พัฒนาเป็นเมืองอู่ทองสุวรรณภูมิ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตของ ๒ เทศบาลต้องช่วยกันพัฒนา ซึ่งในขณะนี้สวนหินพุหางนาคไม่มีงบประมาณ เราก็จะช่วยกันดูแลโดยขอคำชี้แนะจากป่าไม้จังหวัดและวนอุทยานพุม่วงว่าจะพัฒนาสวนหินพุหางนาคให้ถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างไร รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ส่วนเรื่องงบประมาณก็จะดูว่าสามารถผสมผสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างไรหรือต้องมีการจ้างเหมาบริการเพื่อการพัฒนาต่อไป
ติดต่อสอบถามได้ที่
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.๗)
โทร.๐๘ ๔๑๖๓ ๗๕๙๙