กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
จาก “เตา” สาหร่ายน้ำจืดในชุมชนราคาเพียงไม่กี่บาท แปลงเป็น เครื่องสำอางและอาหารสุขภาพคุณภาพเยี่ยม ผลงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรชาวเหนือเป็นอย่างมาก
สาหร่ายเตาหรือเทาน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spirogyra spp. เป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวขนาดใหญ่มีลักษณะเป็นเส้นสายยาวสีเขียวสด จับดูจะรู้สึกลื่นมือ มักเกิดรวมกันเป็นกลุ่ม อาจอยู่ที่ก้นบ่อ หรืออาจจะลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ ชาวบ้านในภาคเหนือ นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านคือ ยำเตาสด หรือนำแปรรูปเป็นข้าวเกรียบเตา ซึ่งจำหน่ายในราคาเพียงไม่กี่บาท
อาจารย์ ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า สาหร่ายเตา มีคุณค่าทางโภชนาการสูงประกอบด้วย โปรตีน 18-20% ไขมัน 5-6% คาร์โบไฮเดรต 55-60% เส้นใย 7-10% และรงควัตถุหลายชนิด เช่น คลอโรฟิลล์ เอ และบี เบต้าแคโรทีน และแซนโทฟิล นอกจากนี้ยังพบกลุ่มสารประกอบฟีโนลิกและโพลีแซคคาไรด์ในสาหร่ายเตาอีกด้วย และการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสาหร่ายเตานั้น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง เพราะอนุมูลอิสระ (free radicals) จะทำลายเนื้อเยื่อส่งผลให้เซลล์ได้รับความเสียหายที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค ,มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความรุนแรงของโรคเบาหวาน,มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ป้องกันการอักเสบ บวม แดง ,มีความสามารถในการเป็นพรีไบโอติก โดยส่งเสริมการเจริญของเชื้อ Lactobacillus fermentum ,มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรสิเนส ช่วยป้องกันการเกิดฝ้าและจุดด่างดำ มีสารเมือกหรือมอยเจอร์ไรเซอร์ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ซึ่งผ่านการทดสอบการระคายเคืองต่อผิวในกระต่ายและ ผ่านการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันในหนูขาวแล้ว
จากผลการศึกษาวิจัยที่พบ อาจารย์ ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล และทีมวิจัย จึงได้นำมาปรับใช้ในรูปแบบของการพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพ เช่น เจลดริ้ง(เครื่องดื่มชนิดเจล),โยเกิร์ตสาหร่ายเตา และยังนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้อีกหลายชนิด เช่น ครีมบำรุงผิวกาย ครีมบำรุงผิวหน้าป้องกันฝ้า สบู่ล้างหน้า ลิปบาล์ม สครับขัดผิว แชมพู ครีมนวด และผลิตภัณฑ์สปาที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
อาจารย์ ดร.ดวงพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Funcional drink) ในรูปแบบเครื่องดื่มชนิดเจล(jelly drink) มีการผสมเจลลี่กับสาระสำคัญทางชีวภาพชนิดต่าง ๆ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็กและวัยรุ่น นอกจากมีรสชาติอร่อยและสีสันน่ารักประทานแล้ว ยังมีจุดขายที่การดูแลสุขภาพร่วมกับความสวยงามอีกด้วย ดังนั้น ทีมวิจัยจึงพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดเจลจากสารสกัดสาหร่ายเตาเพื่อเป็นการต่อยอดผลงานวิจัยที่ได้ศึกษาฤทธิ์ชีวภาพของสาหร่ายน้ำจืดที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนในภาคเหนือโดยนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารสุขภาพ (Functional food) และนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางนั้น สามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สร้างความภาคภูมิใจ ช่วยเพิ่มรายได้และอาชีพให้กับคนในชุมชน เพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายโดยตรง และสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านในการช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้มีคุณภาพน้ำที่ดี เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย”
ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัล Silver Award ในงาน“การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555” (Thailand Research Expo2012) เมื่อวันที่ 24-28 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาหร่ายเตา
เครื่องดื่มชนิดเจล(jelly drink)
นำส่วนสกัดของสาหร่ายเตา ,วิตามินซี, น้ำตาลแอลกอฮอล์ (น้ำตาลพลังงานต่ำ) หรือสารให้ความหวาน , เกลือโซเดียมต่ำ และคาราจีแนน มาละลายน้ำเข้าด้วยกัน (อาจใช้น้ำผลไม้ทดแทนน้ำบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อให้เกิดความหลากหลายของกลิ่นรสของผลิตภัณฑ์) นำไปให้ความร้อนเพื่อให้เกิดการละลายอย่างสมบูรณ์และเป็นการฆ่าเชื้อ จากนั้นจึงทิ้งให้เย็นเพื่อให้เกิดเป็นเจล และนำไปแช่เย็น จะได้เป็นเครื่องดื่มชนิดเจล(jelly drink)ที่มีความอร่อยและดีต่อสุขภาพ
สครับขัดตัว
การเตรียมส่วนผสม..นำสาหร่ายเตาสดมาตากให้แห้ง แล้วบดให้ละเอียด
ผงขัดตัวผสมสาหร่าย 100 กรัม
น้ำมันโจโจ้บา (Jojoba oil) 5 กรัม
น้ำมันแมคคาเดเมีย (Macademia oil) 5 กรัม
น้ำมันสวีทแอลมอนด์ (Sweet almond oil) 5 กรัม
สารชำระล้าง (Sodium lauryl sulfate, SLS)6 กรัม
กลีเซอรีน (Glycerine) 10 กรัม
วิตามินอี (Vitamin E) 2 กรัม
ผงสาหร่ายแห้งบดละเอียด 2 กรัม
เกลือ 65 กรัม
วิธีทำ
1. ชั่งผงสาหร่าย สาร SLS และเกลือรวมกัน คนให้เข้ากัน
2. ชั่งวิตามินอี น้ำมัน ต่างๆ และกลีเซอรีน ผสมรวมกันก่อนที่จะเติม 1.
3. นำผงขัดตัวไปแต่งกลิ่นตามต้องการ
4. บรรจุใส่ภาชนะที่ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์แล้ว
สำหรับท่านที่สนใจอาหารสุขภาพและเครื่องสำอางจากสาหร่ายเตา สามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์ ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาลคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 50290 โทรศัพท์ 053-873-470-2 ต่อ213; 086-654-6966 หรือที่ งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ 053-873046-7