กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ก้าวต่อไปของ สบส.กับการเดินหน้าพัฒนายกระดับธุรกิจบริการสุขภาพของไทยสู่การเป็น...ศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก
ในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (Asean Economic Community) รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและเป็นผู้นำด้านสุขภาพระดับโลก และใน ปี 2555 นี้บริการสุขภาพของไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการสุขภาพในไทยมากถึง 2.5 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ถึง 121,658 ล้านบาท
นายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวใน “งานประชุมวิชาการระบบบริการสุขภาพและสุขภาพภาคประชาชน ครั้งที่ 10 ปี 2555 (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ)” ที่พัทยาว่า ในฐานะที่ สบส.เป็นหน่วยงานโดยตรงที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และกำกับดูแลให้งานด้านบริการสุขภาพของไทย ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างความพึงพอใจและความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ
ปีนี้ สบส.กำลังจะปรับองค์กรเข้าสู่สากล ซึ่งถือเป็นก้าวต่อไปของ สบส. เพื่อเตรียมพร้อมในงานด้านบริการสุขภาพรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2558 และมีการปรับบทบาทเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยภาครัฐหารายได้เข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมสุขภาพนั้น นพ.สมชัย กล่าวว่าทาง สบส.ได้รับภารกิจให้เป็นที่ปรึกษาและเป็นต้นแบบในเรื่องของสุขภาพภาคประชาชนแก่กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชนของไทยจะเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว หรือกัมพูชา ฯลฯ โดยเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนของประเทศเหล่านั้น ให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น
ในขณะที่ภารกิจของ สบส.อีกด้านหนึ่งก็คือการพัฒนาผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับการยอมรับจากประเทศในกลุ่มอาเซียนว่าเป็นอันดับ 1 ในด้านการให้บริการสุขภาพ และในส่วนของระดับโลกนั้น ประเทศไทยก็ยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาตัวเองเข้าสู่การเป็นสากลแล้ว โดยภายใน 5 ปี คือ ปี 2555 — 2559 ถ้าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็น Medical Hub ตรงนี้สำเร็จ ก็จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท
นพ.สมชัยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าถ้าจะให้มองย้อนหลังไปในอดีตเปรียบเทียบกับขณะนี้ที่มี สบส.เข้ามาดูแลงานด้านบริการสุขภาพ เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยแก่ประชาชน ซึ่งสามารถดูได้จากงานของ สบส.ตอนนี้ที่มีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ เรื่องที่1.คือการรักษามาตรฐานและคุ้มครองบริการสุขภาพ คุ้มครองผู้บริโภคด้านการบริการสุขภาพ มีการกำกับดูแลโดยกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ 1) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล ซึ่งจะทำการดูแลโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทั่วประเทศ และมีการออกไปจับคลินิกเถื่อนต่างๆ รวมถึงการทำแท้งเถื่อนด้วย 2) พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ โดยที่แพทย์ พยาบาล และเภสัช ทุกคนต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ ถ้าไม่มีก็จะถือว่าเป็นหมอเถื่อน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ ก็จะดำเนินการเข้าไปจับกุม เรื่องที่ 2.คือการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดโอกาสการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังในคนไทย เนื่องจากปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคเรื้อรังกันมากขึ้นอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ การรับประทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานเค็ม หวาน หรือมันมากไป ซึ่งโรคเหล่านี้ถ้าเป็นแล้วต้องกินยาไปตลอดชีวิต ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเหล่านี้ได้ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีการออกกำลังกายเป็นประจำ การเกิดโรคพวกนี้ก็จะลดลง ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ก็จะทำให้ลดโรคภาระต่างๆลงได้ ส่งผลให้เงินที่จะไปใช้เรื่องการของรักษาพยาบาลลดลงตามไปด้วย สามารถลดรายจ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลให้กับประเทศได้ถึงปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท
จึงถือได้ว่า สบส.เป็นกรมที่ช่วยลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยด้วย นพ.สมชัยกล่าวพร้อมพูดถึงภารกิจของสบส.ในเรื่องที่ 3.ว่า การกำกับดูแลสุขภาพภาคประชาชนถือเป็นภารกิจหลักของ สบส.อีกเรื่องหนึ่ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งตอนนี้ทั่วประเทศมี อสม.อยู่ 1 ล้าน 6 หมื่นคน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขของไทยและช่วยในการดูแลสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ หรือแม้แต่กระทั่งเรื่องของน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหลังจากน้ำท่วมแล้วไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นโรคท้องเดิน โรคตาแดง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดจากฝีมือของ อสม.ทั้งสิ้นในการเข้าไปช่วยดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนที่โดนน้ำท่วม ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่ อสม.กว่า 6 หมื่นคน ซึ่งก็เป็นชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน แต่ก็ยังทำหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างเข้มแข็งจนไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้น