กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สศอ.เปิดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เน้นจุดแข็ง เสริมจุดอ่อน พัฒนาระบบเทคโนโลยีการผลิต ยกระดับสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ ขยายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า สศอ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาโดยตลอด เพราะถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี 2552 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศไทยถึง 4.64 แสนล้านบาท หรือคิดเทียบเป็น 5.1% ของ GDP อีกทั้งยังถือเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆของประเทศ นับได้ว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็น “อุตสาหกรรมสนับสนุน” ที่ทำหน้าที่ผลิตวัสดุพื้นฐาน เช่น ผลิตเม็ดพลาสติก เส้นใยและยางสังเคราะห์ ฯลฯ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ เกษตร เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น
โดยปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าจาก 15.3 ล้านตันในปี 2546 เป็น 29 ล้านตัน ในปี 2554 และเพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการที่ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน สศอ. จึงได้ศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ โดยได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ออกมา 4 ประเด็น คือ 1. เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ฐานการผลิตปิโตรเคมีไทยด้วยการสร้างสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดในประเทศ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติก สนับสนุนการผลิตของอุตสาหกรรมผู้ใช้ปลายทาง และ 4. สนับสนุนการขยายการค้าและการลงทุนปิโตรเคมีไปต่างประเทศ
จากการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยมีจุดแข็งในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ 1. การผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย (Intergrated Complex) ก่อให้เกิดการบูรณาการในด้านการผลิตและส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันให้ดีขึ้น เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากการใช้และการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และระบบสาธารณูปโภคร่วมกัน 2. มีขนาดการผลิตที่ใหญ่ ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดกำลังการผลิต (Economy of Scale) ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ที่มีความได้เปรียบคู่แข่งขันต่างๆ ทั่วโลกและมีความเข้มแข็งในการผลิต 3. โรงงานมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย (Modern Technology) ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 4. ขนาดของตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับปริมาณการผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ 5. มีความเข้มแข็งทางการเงิน พร้อมสำหรับขยายการลงทุน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีรายใหญ่เกือบทั้งหมดจะมีความพร้อมทางด้านเงินลงทุนสูงมาก พร้อมสำหรับการขยายการลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และ 6. มีก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตปิโตรเคมีที่สามารถแข่งขัน (Competitive) ได้ในภูมิภาคอาเซียน
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยถือได้ว่ามีความได้เปรียบในเชิงของทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สามารถวางตำแหน่งของการเป็นประตูการค้าสู่อินโดจีน และอาเซียนได้ พร้อมกับศักยภาพที่จะสามารถเติบโตไปสู่ตลาดใหญ่อย่างจีนได้ ที่สำคัญคือการขยายตัวของอุตสาหกรรมปลายทางภายในประเทศ ถือเป็นแหล่งรองรับเม็ดพลาสติกที่สำคัญที่นำไปใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมปลายทางต่างๆ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์การเกษตร ล้วนมีผลผลักดันให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้การให้ความสำคัญทางด้านการวิจัยและพัฒนาจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต Specialty product รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผู้ใช้ปลายทางและตลาดส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะต่อไป รวมทั้งการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน มุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยมลพิษและการรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการผลิต สามารถสร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับเพื่อให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยพัฒนาไปได้อย่างสมดุลย์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“บริบทสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึงการพัฒนาที่มีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และจะทำให้การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมส่งผลถึงการเติบโตของชุมชนด้วย ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจกันพลิกฟื้นพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชนแวดล้อมให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีการจัดสรรพื้นที่อุตสาหกรรมให้เป็นสัดส่วนอย่างเหมาะสม พัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย การบริหารความเสี่ยง และการติดตามตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาไปสู่ความเจริญที่ยั่งยืนทั้งชุมชนและอุตสาหกรรม” นายโสภณกล่าว