กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กสทช.
กสทช. เปิดตัวโครงการ POP [Public online Participation] หรือ โครงการนำร่อง ในการจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนา กระบวนการรับฟังความคิดเห็น สาธารณะในกิจการโทรคมนาคม โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกับ บริษัท ทรัยคาสท์ จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้งระบบการประเมินคุณภาพสื่อ [me system] และผู้พัฒนา www.stat.or.th เว็บไซต์รับชมทีวีดาวเทียม และเก็บสถิติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวถึงบทบาทและการดำเนินงานของ กสทช. ว่า ”ในอดีตการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของภาครัฐ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นช่องทางในการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นสาธารณะ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำมาสู่การหาข้อสรุปในการขับเคลื่อน ประเทศไปข้างหน้าร่วมกันมาในวันนี้ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้ถูกยกระดับขึ้นมาอีกหนึ่งขั้น ด้วยการนำเอานวัตกรรมด้านระบบการประมวลผลข้อมูล และอินเตอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการ จนเกิดเป็นช่องทางใหม่ในการรับฟัง “เสียง” ของประชาชน”
ด้าน คุณจอห์น รัตนเวโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรัยคาสท์ จำกัด (ผู้ร่วมก่อตั้งระบบการประเมินคุณภาพสื่อ ME System) อุปนายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์ เผยถึงที่มาของโครงการ POP [Public online Participation]ว่า “จากจุดเริ่มต้นของการร่วมก่อตั้งระบบการประเมินคุณภาพสื่อ หรือ me System [www.me.in.th] ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยเน้นที่เรื่องของ เพศ ภาษา และความรุนแรง ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมบนสื่อฟรีทีวี ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเยาวชน ในครั้งนั้นมีคนไทยที่เข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ประเมินคุณภาพสื่อกว่า 400,000 คน
เมื่อนับย้อนไปในสมัยที่เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในภาคตะวันออก มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนบนโลกออนไลน์มักจะปฏิบัติ คือ การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางสังคม ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงการแสดงออกทางอารมณ์ที่ไม่มีคุณภาพ และสามารถวัดผลได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราได้คัดกรองความคิดเห็นต่างๆ อย่างจริงจัง จะพบว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่ร่วมคิด ร่วมกันแสดงความคิดเห็น อย่างจริงใจ ต่อประเด็นต่างๆ ที่กระทบต่อสังคม เพียงเพราะว่า คนเหล่านี้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ในทางที่ดีเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่ง POP หรือ Public online Participation เป็นโครงการนำร่อง ในการจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนากระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในกิจการโทรคมนาคม โดย สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จะช่วยให้คนไทยได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ”
นอกจากนี้ คุณอนุชา ตันตราภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรัยคาสท์ จำกัด ยังกล่าวถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่นำมาใช้พัฒนากระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในกิจการโทรคมนาคม ว่า “บริษัท ทรัยคาสท์ จำกัด มีความมุ่งมั่นในการนำระบบ Information Technology, Cloud Services รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการกระจายข่าวสาร และเน้นหนักเรื่องการสื่อสารสองทาง การปฏิสัมพันธ์ ด้วยโครงข่ายไอทีในโครงการต่าง ๆ
โครงการ Public Online Participation หรือ POP ในเฟสแรกนี้ ทางทีมงานครีเอทีฟ บริษัท Splash Interactive รวมถึงทีมงานไอที บริษัท ทรัยคาสท์ มีความตั้งใจที่จะทำให้การสื่อสารระหว่าง กสทช. และภาคประชาชน เดินไปทิศทางที่สามารถสื่อสารถึงกันได้โดยง่าย ทั้งการใช้เทคโนโลยีต่างๆ การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมถึงการทำความเข้าใจในพฤติกรรม และวัฒนธรรมการใช้งานเทคโนโลยีของประชาชน เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นโครงการที่เข้าถึงโดยง่าย และครอบคลุมพฤติกรรมทุกช่องทาง
เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของโครงการ POP นี้ คือ ประชาชนจะต้องสามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ในระบบ Online ซึ่งการแสดงตัวตน จะต้องมาพร้อมกับความเข้าใจในเจตนารมณ์ของ กสทช. โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เทคโนโลยีสามารถรับใช้พันธกิจของรัฐ และเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง pop.nbtc.go.th และ facebook.com/pop.nbtc คือ ศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อการกำกับดูแล ทั้งในด้านของการจัดสรร และบริหารคลื่นความถี่ การใช้งานที่เท่าเทียม ตลอดจนสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภค ด้วยระบบอัจฉริยะโดยทีมผู้พัฒนาระบบประเมินคุณภาพสื่อออนไลน์ หรือ me system [me.in.th] ที่เข้าถึงได้จากทุกที่ ทุกเวลา บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Microsite) เว็บไซต์ pop.nbtc.go.th และสื่อสังคมออนไลน์ facebook.com/popจะเป็นเสมือนเครื่องมือของภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนภาคโทรคมนาคมของประเทศไทยให้ก้าวเดินไปข้างหน้า”
พร้อมกันนี้ Public Online Participation [POP] ได้มีการคัดเลือกตัวแทนโครงการ คือ นางสาว กวิสรา ปัทมสูต และ นางสาว ฐิติกานต์ สิทธิสัมพันธ์ ตัวแทนของคนไอทีรุ่นใหม่ จากโครงการ NETGEN TJ Search โดยสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อทำหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในแหล่งชุมชน [POP on Location] พร้อมสร้างการรับรู้ และให้ประชาชนคนไทยทุกคน ได้เห็นถึงความสำคัญของการแสดงความคิดเห็นของตน ต่อประเด็นที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ
ร่วมคิด ร่วมกัน POP : Public Online Participation By NBTC จัดสร้างโดย สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป