กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--ทีเอ็มบี
กลุ่มคิงส์ฟิชเชอร์ โตสวนกระแส จับตลาดญี่ปุ่น-สหรัฐ เน้นทูน่าอาหารยอดทีเอ็มบีร่วมเสริมสภาพคล่องเพิ่มวงเงิน 900 ล้านบาท พร้อมเป็นพันธมิตรก้าวสู่อาเซียนนิยม
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี (ซ้าย) และนายมาซารุ อิเคมิ Managing Director กลุ่มบริษัทคิงส์ ฟิชเชอร์ ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนรวม 900 ล้านบาท
กลุ่มบริษัท คิงส์ ฟิชเชอร์ โตสวนกระแสส่งออกทูน่าต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน หลังอาหารแช่แข็งยังคงเป็นที่ต้องการสูง โดยเฉพาะทูน่าเป็นที่นิยมมากทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา ล่าสุดร่วมทุนกับบริษัทอาหารญี่ปุ่นเพื่อขยายตลาด และเตรียมลงทุนกับกลุ่มอาเซียนเพื่อเพิ่มแหล่งทรัพยากรอาหาร ด้านทีเอ็มบีพร้อมสนับสนุนวงเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง 900 ล้านบาท มองเห็นศักยภาพด้านการเป็นผู้นำอาหารแช่แข็งคุณภาพสูงและพร้อมก้าวสู่ตลาดอาเซียน
นาย มาซารุ อิเคมิ Managing Director กลุ่มบริษัทคิงส์ ฟิชเชอร์ เปิดเผยว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯมียอดการจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งเติบโตอย่างต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกันโดยเฉพาะทูน่า ในสหรัฐอเริกาและยุโรปสินค้าอาหารถือเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะทูน่าเป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าในขณะที่ให้คุณค่าทางอาหารและมีโปรตีนสูงเช่นเดียวกับหมูหรือเนื้อ ทำให้ยังมีดีมานด์อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเน้นตลาดญี่ปุ่นซึ่งมีความต้องการอาหารแช่แข็งเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา โดยคิงส์ ฟิชเชอร์ได้ร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น มารูฮา นิจิโระ โฮลดิ้ง เพื่อรองรับการขายสินค้า ทำให้กลุ่มบริษัทฯได้เปรียบในการขยายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งในตลาด และยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มบริษัทฯมีแผนจะลงทุนในอาเซียนซึ่งเป็นโอกาสจากการเปิดเสรีการลงทุนจากAEC โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียซึ่งมีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์และมีภาครัฐที่มีนโยบายสนับสนุนการประมงอย่างจริงจังอีกด้วย
ปัจจุบันสภาวะการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งของประเทศไทยอยู่ในระดับ1.7% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554 โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์และศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุว่า ยอดการส่งออกอาหารทะเลในเดือนมกราคม — มิถุนายน 2555 มีมูลค่า 1,133 ล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้นจาก 1,114 ล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อนหน้า แต่หากมองเฉพาะภาพรวมตลาดส่งออกทูน่าแปรรูปจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีปริมาณลดลงมากถึง 75 % โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งลดลงถึง 87%
ทีเอ็มบีมองเห็นศักยภาพในการเติบโตของกลุ่มบริษัทคิงส์ ฟิชเชอร์ จึงได้เพิ่มการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนรวมเป็น 900 ล้านบาทเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงาน และเพื่อใช้ในการสต็อกวัตถุดิบในเวลาที่สินค้าราคาลดลงซึ่งรวมถึงปลาทูน่าสดที่ประเทศไทยต้องนำเข้าและกำลังมีปัญหาเรื่องราคาที่ถีบตัวสูงขึ้นอันเเนื่องมาจากการที่จับปลาได้ลดน้อยลง รวมถึงให้วงเงินเพื่อธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการส่งออกให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ทีเอ็มบียังมีแผนจะให้การสนับสนุนทางการเงินด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทุนหรือบริการด้านธุรกรรมการรับ-จ่ายเงิน (Transactional Banking) ที่มีประสิทธิภาพกับกลุ่มบริษัทฯ และพร้อมสนับสนุนทางการเงินสำหรับแผนในอนาคตที่กำลังจะขยายธุรกิจไปสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีทีมงานผู้ดูแลพิเศษ นำโดยนาย ฮิโรยูกิ ไซโจ หัวหน้าทีมบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าญี่ปุ่น และในต้นปีที่ผ่านมาทีเอ็มบีก็ได้มีการขยายเครือข่ายไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเกิดความคล่องตัวในการทำธุรกรรมกับคู่ค้าและสาขาในญี่ปุ่นอีกด้วย
กลุ่มบริษัท คิงส์ ฟิชเชอร์ มีนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังมีมาตรฐานอาหารที่ทั่วโลกยอมรับ บวกกับนโยบายการทำประมงที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปตามมาตรฐาน IUU Fishing และการรองรับจากสถาบันเอิร์ธไอส์แลนด์ (Earth Island Institution) จากสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการจับปลาทูน่าโดยไม่มีผลกับปลาโลมา ซึ่งช่วยลดปัญหาจากการกีดกันทางการค้า และดำเนินยุทธศาสตร์การค้าด้วยการร่วมทุนผลิตสินค้าให้กับหลายบริษัทในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้มียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง และสามารถเติบโตได้แม้ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เป็นตลาดหลักยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง