ครม.พิจารณามาตรการประหยัดพลังงาน ขอความร่วมมือปิดห้างจันทร์ถึงพฤหัส 3 ทุ่มครึ่ง ศุกร์เสาร์อาทิตย์ 4ทุ่ม

ข่าวทั่วไป Wednesday August 25, 2004 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กระทรวงพลังงาน
ครม. พิจารณา มาตรการประหยัดพลังงาน ในภาวะราคาน้ำมันแพงเรื่องเร่งด่วนขอความร่วมมือปิดห้างจันทร์ถึงพฤหัส 3 ทุ่มครึ่ง ศุกร์เสาร์อาทิตย์ 4ทุ่ม เซเว่นฯ เปิดตามเดิม บังคับปิดปั๊มเที่ยงคืนถึงตีห้า
ป้ายโฆษณา เปิดเฉพาะ 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม ระยะกลาง ลดใช้พลังงานโรงงานอุตสาหกรรม 10% ใน 1 ปี ส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติภาคขนส่ง ระยะยาวส่งเสริมการใช้พลังงานชีวภาพ เจรจาไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มอำนาจต่อรองประเทศผู้ค้าน้ำมัน
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.47) ว่ามาตรการประหยัดพลังงาน ในภาวะน้ำมันแพงที่กระทรวงพลังงานได้เสนอ ครม.เพื่อพิจารณามีผลดังนี้ มาตรการการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าโดยเฉพาะการเปิด ปิด ห้างสรรพสินค้านั้น ที่ประชุมครม.ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงไม่กระทบต่อการจ้างงานซึ่งจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าปลีก ประเภท ดิสเคาส์ สโตร์ ที่มีพื้นที่ขายระดับหลักหมื่นตารางเมตร เช่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟู ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่ขายระดับหลักแสนตารางเมตร เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ดิเอ็มโพเรียม โรบินสัน มาบุญครอง สยามดิสคอฟเวอรี่ จัสโก้ พาต้า และตั้งฮั่วเส็ง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์จะเปิดเวลา 11.00 น. และปิดเวลา 21.30 น. ยกเว้นวันศุกร์จะปิดเวลา 22.00 น. วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะเปิดเวลา 10.00 น. และปิดเวลา 22.00 น.ผู้ประกอบการประเภทขายส่งที่มีลูกค้าเฉพาะ เช่น แม็คโคร วันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะเปิดเวลา 6.00 น. ปิดเวลา 21.30 น. ยกเว้นวันศุกร์ปิดเวลา 22.00 น. วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะเปิดเวลา 6.00น. ปิดเวลา 22.00 น.
ทั้งนี้มาตรการปิดห้างสรรพสินค้านี้ จะไม่รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่มีพื้นที่ระดับร้อยตารางเมตร เช่น ฟู้ดแลนด์ ท็อป และร้านค้าสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท รวมทั้งร้านขายของชำทั่วไป แต่ร้านสะดวกซื้อจะต้องเสนอมาตรการประหยัดพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานจะทำการประเมินการใช้ไฟฟ้าจากใบเสร็จค่าไฟจริงในแต่ละเดือน
นอกจากนี้ การกำหนดเวลาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สถานีบริการและร้านค้าน้ำมันปิดการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด และก๊าซหุงต้ม ในระหว่างเวลา 24.00 — 05.00 น. โดยอาศัยคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 การกำหนดปิดไฟส่องป้ายโฆษณาอนุญาติให้การโฆษณาป้ายสินค้าหรือบริการ ป้ายชื่อร้าน ป้ายโรงภาพยนตร์ และไฟส่องตึก ได้เฉพาะเวลา 18.00 — 22.00 น.
การเร่งปรับปรุงพื้นที่จอดรถสาธารณะเพื่อต่อรถขนส่งมวลชนหรือ Park &Ride ที่สถานีรถ ไฟฟ้าหมอชิต และบางซื่อ โดยมอบหมายให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเข้าไปดำเนินการปรับพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง
และกระทรวงพลังงานจะประสานกับ กทม. และรฟท. ในการจัดสรรงบประมาณค่าปรับพื้นที่ ซึ่งบีทีเอส และรฟม. จะรับผิดชอบดูแลสถานที่จอดรถพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการให้บริการประชาชน เช่น ระบบแสงสว่าง และการรักษาความปลอดภัย
รวมทั้ง การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน
ร่วมกับภาคเอกชน จะเร่งรัดการพัฒนาระบบการขนส่งหลายรูปแบบ โดยเชื่อมโยงการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ พร้อมทั้งตั้งจุดรับส่งสินค้า กระจายสินค้า และผสมผสานงาน กับศูนย์ลดการบรรทุกเที่ยวเปล่า
เพื่อให้การพัฒนาระบบส่งสินค้า บรรลุผลอย่างจริงจัง
สำหรับมาตรการระยะกลาง นั้น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติในการลดใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมให้ได้ 10 % ภายใน 1 ปี รวมทั้งร่วมกับกระทรวงการคลัง เร่งประกาศให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
ให้กับโรงงานที่โรงงานที่ประหยัดพลังงาน 30 % ของส่วนที่ประหยัดได้ เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะมีผลบังคับใช้ได้ ในเดือนสิงหาคม 2547 เพื่อจูงใจโรงงานอุตสาหกรรมเร่งลดใช้พลังงานเร็วขึ้น
การส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) ประสานกับ รฟท. ปรับหัวจักรรถไฟมาใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยทดลองวิ่งตามเส้นทางสายลาดกระบัง ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 130 กม. จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2547 และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะเร่งพิจารณาลดอากรนำเข้าอุปกรณ์ เอ็นจีวี จำนวน 30 รายการ เพื่อลดต้นทุนอุปกรณ์เอ็นจีวีโดยเร็ว
ส่วนมาตรการระยะยาว จะส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงจากชิวภาพ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งผลักดันกำลังผลิตเอทานอลให้เร็วขึ้น จากจำนวน 3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2551 มาเป็นปี 2549 เร่งเจรจาจัดหาไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดการเจรจากับประเทศพม่า จีน ลาว กัมพูชา เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาไฟฟ้าพลังงานประเทศ เพื่อนบ้าน ตลอดจนระบบสายส่งต่าง ๆ และการเพิ่มอำนาจเพื่อต่อรองกับประเทศผู้ค้าน้ำมันในเวทีต่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเชิญประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ได้แก่ เวียดนาม จีน อินเดีย และปากีสถาน หารือเพื่อกำหนดท่าทีการส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อให้มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น เช่นเดียวกับผู้ส่งออกน้ำมัน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ