กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
สถาบันพระปกเกล้า และองค์กรเครือข่าย เชิญชวน ทุกภาคส่วน ทั้งอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารท้องถิ่น นักวิชาการ องค์กรประชาชน สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในงานสัมมนา ในหัวข้อเรื่อง “ระบบการคัดสรรผู้แทนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” ในวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 เวลา 08.45 — 12.30 น. ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในประเด็นระบบและกระบวนการคัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเหมาะสมสอดคล้องกับวัฒนธรรม ประเพณี และสังคมวิทยาการเมืองไทย และสามารถเป็นกลไกสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของปวงชนชาวไทยได้อย่างแท้จริง บทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรควบคุม และดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการคัดสรรสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งระบบและกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้งและการคัดสรรสมาชิกรัฐสภา เพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ
ศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า “ประเด็นที่สมาชิกในสังคมยังมีทัศนคติหรือมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น “ผู้แทนที่ดี” เป็นอีกประเด็นที่จำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันระหว่างฝ่ายที่เห็นแตกต่าง ยิ่งไปกว่านั้น การแยกแยะระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เป็นอีกประเด็นที่ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม รวมไปถึงความแตกต่างระหว่างนักการเมืองระดับชาติกับระดับท้องถิ่นด้วย อย่างไรก็ตาม การออกแบบระบบคัดสรรผู้แทนของสังคมไทยนั้น ควรพิจารณาในมิติ “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” ทั้งในส่วนของความชอบธรรมในที่มาและบทบาทอำนาจหน้าที่ โดยที่สามารถสะท้อนปัญหาในพื้นที่เขตเลือกตั้งของตน รวมไปถึงการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาซึ่งให้ความสำคัญและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมมากกว่าการทำหน้าที่เป็นเพียงผู้แทนของเขตเลือกตั้งเท่านั้น”
ระบบการเลือกตั้ง ได้ถูกนำเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการคัดสรรผู้แทนของประชาชนชาวไทย มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 80 ปี และได้พบว่าในการปฏิบัตินั้นมีปัญหาในเรื่องของความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง และไม่สามารถคัดสรรผู้แทนที่ดี มีความรู้ความสามารถตรงตามหน้าที่ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากความต้องการชนะการเลือกตั้ง ได้เข้าไปมีอำนาจรัฐที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งกฎเกณฑ์ กติกา หรือแม้แต่กฏหมายสูงสุด ที่เป็นตัวกำหนดกลไกการควบคุมตรวจสอบ และกำหนดกระบวนการขึ้นเพื่อการป้องกันการทุจริตหรือการแข่งขัน ที่ไม่เป็นธรรมก็ไม่อาจต้านทานได้
“ในอดีตนั้น ได้มีความพยายามในการศึกษาและหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยตลอด แต่การดำเนินการเฉพาะเรื่อง เฉพาะประเด็น ขาดการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ การปฏิบัติตามกฎหมายที่คำนึงถึง “หน้าที่” โดยมิชอบได้ให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดสรรผู้แทนที่มีการปรับเปลี่ยนเพื่อเลี่ยงกฏหมายอยู่ตลอดเวลา ทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร” ศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ กล่าวเสริม
สถาบันพระปกเกล้า จึงได้ร่วมกับ องค์กรเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิเอเชีย สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และสมาคมนิสิตเก่านิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเรื่อง “ระบบการคัดสรร ผู้แทนที่เหมาะสมกับสังคมไทย” ภายใต้โครงการศึกษา “รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 เวลา 8.45-12.30 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาระบบและกระบวนการคัดสรรผู้แทนที่เหมาะสมกับสังคมไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมทั้งการก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในระบบและกระบวนการคัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภา ที่เหมาะสมสอดคล้องกับวัฒนธรรม ประเพณี และสามารถเป็นกลไกสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของปวงชนชาวไทยได้อย่างแท้จริง
ภายหลังจากจบสัมมนาแล้ว สถาบันพระปกเกล้าและองค์กรเครือข่ายจะรวบรวมข้อมูลที่ได้ นำไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อวางแนวทางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำรองที่นั่งได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (02) 141-9505-09 โทรสาร (02) 143-8171 หรือดาวโหลดรายละเอียดได้ที่ www.kpi.ac.th
ติดต่อ:
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ สถาบันพระปกเกล้า :
โทรศัพท์: (02) 141-9511-12, (089) 783-8833
อีเมล์: worarat@kpi.ac.th , ton@kpi.ac.th