กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สามพราน ริเวอร์ไซด์
สามพราน ริเวอร์ไซด์ ได้รับรางวัลธุรกิจเพื่อสังคมแห่งเอเชีย และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล โดยความร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกร และนักวิชาการ ตอกย้ำความเชื่อมั่น มุ่งพัฒนาก้าวสู่องค์กรธุรกิจท่องเที่ยวต้นแบบสีเขียว ที่ใส่ใจต่อผู้บริโภค ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ เปิดเผยว่า สามพรานฯ มีนโยบายให้ความสำคัญกับวิถีไทย ชุมชน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินการอย่างจริงจังมาโดยตลอด จนโครงการ “ตลาดสุขใจ” ได้รับรางวัล Asia Responsible Entrepreneurship Awards (AREA) ในด้าน SME CSR จาก Enterprise Asia องค์กรกลางของธุรกิจชั้นนำส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งสามพราน ริเวอร์ไซด์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้ ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่สวนเกษตรอินทรีย์ของสามพรานฯ ได้รับการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล หรือ IFOAM จากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements — IFOAM) เมื่อเร็วๆ นี้
โครงการ “ตลาดสุขใจ” ซึ่งได้รับรางวัลธุรกิจเพื่อสังคมแห่งเอเชีย (AREA) เกิดจากความร่วมมือกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการ และสามพราน ริเวอร์ไซด์ เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายพืชผลเกษตรปลอดภัยต่อการบริโภค ในราคาที่เป็นธรรม บนหลักการพึ่งพาและร่วมมือกัน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวผู้ใส่ใจสุขภาพและห่วงใยสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ในวันเสาร์และอาทิตย์ ระหว่างเวลา 10.00-16.00 น.
สำหรับสวนเกษตรอินทรีย์ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ได้ปรับพื้นที่สวนผักผลไม้ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ประมาณ 30 ไร่ ให้เป็นสวนผักผลไม้และสมุนไพรอินทรีย์ (organic) พร้อมทั้งเปิดให้นักท่องเที่ยวข้ามไปเรียนรู้วิถีเกษตรปลอดภัย เก็บผักมาทำอาหารในโปรแกรม Cooking Class รวมถึงจัดให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรที่สนใจ ภายใต้การดำเนินงานโดยยึดถือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง จนได้รับการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล (IFOAM)
“ความก้าวหน้าของโครงการทั้งสองนี้ นอกจากจะเป็นกำลังใจที่ดีแก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณค่าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งในด้านการเกษตรและสุขภาพ ตลอดจนสร้างการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยในการบริโภคของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในอนาคต”
นายอรุษ กล่าวต่อไปว่า ทิศทางการดำเนินงานของ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจท่องเที่ยวต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยระดับสากล ที่ยังประโยชน์ให้กับผู้บริโภค ชุมชน เกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ และธุรกิจของสามพรานฯ ในระยะยาว โดยมีเป้าหมาย
ให้สวนธรรมชาติภายในบริเวณพื้นที่ของ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ทั้งหมดได้รับการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์สากลเต็มรูปแบบ
“จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของตลาดสุขใจและสวนเกษตรอินทรีย์ มีส่วนร่วมฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวเรียนรู้แง่มุมของวิถีเกษตรที่ผลิตพืชผลปลอดภัยต่อการบริโภค ขณะที่สามพรานฯ มีแหล่งวัตถุดิบสำหรับการทำอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ ที่สำคัญยังสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอินทรีย์จำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มในอนาคต เช่น สบู่ ยาสระผม ครีมบำรุงผิว ฯลฯ” นายอรุษ กล่าวสรุป
รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การรวมตัวกันเป็นกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพรานนั้น มีที่มาจากปัญหาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่คนในชุมชนต้องเผชิญหน้า การแก้ปัญหาเชิงระบบด้วยการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ ได้นำมาสู่การกำหนดปณิธานร่วมว่า “ภาคีทุกคนต้องเข้าใจและเข้าถึงเกษตรอินทรีย์ โดยมีสวนสามพรานเป็นเสาหลัก ในการให้ความรู้และปัญญาไปสู่การกินดีอยู่ดี มีความสุขถ้วนหน้า” และใช้ “ตลาดสุขใจ” เป็นกลไกการเรียนรู้และเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ปัจจุบันนอกจากตลาดสุขใจจะเป็นที่กล่าวขานโดยกลุ่มผู้บริโภคอาหารปลอดภัยอย่างกว้างขวางแล้ว ยังเห็นพลังของภาคีในชุมชนที่มีการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
อาจกล่าวได้ว่า “ตลาดสุขใจ” เป็นตัวแบบของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการนำการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการยกระดับขีดความสามารถของชุมชน และชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการแบ่งปัน และสร้างสรรค์ของภาคี ที่มีกระบวนทัศน์กว้างไกลและใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ทางด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า “โครงการตลาดสุขใจ” เป็นโมเดลของความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับชุมชน ภายใต้แนวคิดการพึ่งพาและช่วยเหลือกันตามอุดมการณ์สหกรณ์ ทั่วไปเราจะเห็นว่างานสหกรณ์มักจะเป็นการรวมกลุ่มร่วมมือกันเฉพาะภายในกลุ่มเกษตรกรหรือชุมชนด้วยกันเท่านั้น การที่สวนสามพรานได้ริเริ่มความคิดที่จะทดลองการสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจโรงแรมกับกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยไปจนถึงเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นความแปลกใหม่ที่น่าค้นคว้าและพิสูจน์ว่าผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งจากการที่สวนสามพรานได้รับรางวัล AREA ก็เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่าเมื่อทำแล้ว ธุรกิจดีขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ จากการสอบถามเกษตรกรและชุมชนก็สะท้อนว่า โครงการตลาดสุขใจช่วยทำให้เกษตรกรที่ตั้งใจผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์มีช่องทางตลาดที่กว้างขึ้น ได้รับผลตอบแทนดีขึ้นจากระบบจัดการของตลาดซึ่งบริหารงานโดยสมาชิกร่วมกันแบบสหกรณ์ นี่จึงเป็นการวิจัยปฏิบัติการที่ทดลองสร้างโมเดลการทำธุรกิจแนวใหม่ที่พิสูจน์ได้ถึงความสำเร็จที่น่าสนใจ