กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “AA-” จากเดิมที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Positive” หรือ “บวก” โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากบริษัทแม่ คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ธนาคารกรุงเทพสามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บล.บัวหลวง ได้เป็นผลสำเร็จ ผ่านการเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2555 ทริสเรทติ้งยังคาดว่า บล.บัวหลวง จะได้รับประโยชน์จากการผสานความแข็งแกร่งทางธุรกิจกับกลุ่มธนาคารกรุงเทพมากยิ่งขึ้น อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงเทพ ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ ตลอดจนแนวทางการบริหารงานที่ระมัดระวังของคณะผู้บริหาร ความยืดหยุ่นทางการเงินจากการเป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ รวมถึงศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่กลุ่มธนาคารกรุงเทพมีอยู่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม สภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ตลอดจนความผันผวนของตลาดหุ้นไทย และผลกระทบจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 ยังคงเป็นข้อจำกัดที่สะท้อนอยู่ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทในครั้งนี้ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า บล.บัวหลวง จะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งทางธุรกิจของบริษัทและการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพในการรักษาความมั่นคงของธุรกิจและฐานะทางการเงินไว้ได้ ท่ามกลางแรงกดดันในการตั้งราคาและการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นภายหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงนโยบายที่ระมัดระวังของบริษัทในการลงทุนและการให้สินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ ตลอดจนความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะกระจายแหล่งที่มาของรายได้และขยายฐานลูกค้ารายย่อยของบริษัทด้วย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล.บัวหลวงยังคงมีสถานะที่เข้มแข็งในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารทุน โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 4.7% (อันดับ 8) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2555 เทียบกับ 4.8% (อันดับ 7) ในปี 2554 และ 4.4% (อันดับ 9) ในปี 2553 ส่วนในด้านรายได้นั้นคิดเป็นส่วนแบ่งรายได้เทียบกับอุตสาหกรรมที่ระดับ 5.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.8% ในปี 2553 และ 2554 ในส่วนของธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์นั้น บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่จำนวนสัญญาซื้อขายอยู่ประมาณ 3%-4% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนแบ่งรายได้เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเพิ่มเป็น 6.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 จาก 5.5% ในปี 2554 และ 4.4% ในปี 2553
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจของ บล.บัวหลวงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยมีพื้นฐานมาจากผลงานในอดีตที่ได้รับการยอมรับและฐานลูกค้าของกลุ่มธนาคารกรุงเทพเป็นสำคัญ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจจัดการกองทุนซึ่งจัดว่าเป็นรายได้ที่มีลักษณะเป็นรายได้ประจำที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ของรายได้รวม
บล.บัวหลวงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่อยู่ในวงจำกัดเนื่องจากบริษัทมีนโยบายการลงทุนที่จำกัดอยู่เพียงการหาผลตอบแทนแบบ Arbitrage และการป้องกันความเสี่ยงจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เท่านั้น บริษัทได้ออกจำหน่ายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2553 และจัดได้ว่าเป็นผู้นำตลาดในผลิตภัณฑ์นี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากหนี้สินอนุพันธ์ทางการเงินจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าว ในด้านความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น บริษัทมียอดการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์คงค้างจำนวน 535 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งคิดเป็น 25% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและเป็น 1.8% ของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทั้งอุตสาหกรรม
การเป็นบริษัทในกลุ่มธนาคารกรุงเทพให้ประโยชน์แก่ บล.บัวหลวงหลายประการ ตัวอย่างเช่น บัญชีลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์เกือบ 1 ใน 4 ที่บริษัทได้เพิ่มมาในช่วงปี 2554 ถึงครึ่งแรกของปี 2555 เป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำจากธนาคารกรุงเทพภายใต้สัญญา Introducing Agent ที่ทำไว้ร่วมกันตั้งแต่ปี 2550 นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพยังได้เริ่มกำหนดให้การขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทและการแนะนำลูกค้าให้บริษัทเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ของพนักงานของธนาคารในสาขาต่าง ๆ อีกด้วย ความสัมพันธ์ที่ธนาคารกรุงเทพมีกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากมายช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบในการให้บริการลูกค้ากลุ่มสถาบันในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น การจัดกิจกรรมให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าพบผู้บริหารของบริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธนาคารกรุงเทพเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น และในบางกรณี ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทได้ลูกค้าด้านวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพยังเป็นผู้ให้สินเชื่อหลักแก่บริษัทในสัดส่วนกว่า 95% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดของบริษัทด้วย
ธนาคารกรุงเทพได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บล.บัวหลวงจาก 56.34% เป็น 99.75% ตามแนวกลยุทธ์ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มในการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพมุ่งหวังจะใช้ศักยภาพในตลาดทุนของบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการลงทุนและหาแหล่งเงินทุนของลูกค้าในกลุ่มได้ในทุกแง่มุม นอกจากนี้ การที่ธนาคารกรุงเทพถือหุ้นเพิ่มขึ้นนี้ยังช่วยให้การจัดการเงินทุนภายในกลุ่มกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยให้ธนาคารสนับสนุนเงินทุนแก่บริษัทได้ในจำนวนที่มากขึ้นด้วย
บล.บัวหลวงมีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแรงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิคงที่อยู่ที่ 54% ในปี 2553 และ 2554 ผลกำไรสุทธิในปี 2554 อยู่ที่ 464 ล้านบาท เทียบกับ 488 ล้านบาทในปี 2553 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ผลกำไรสุทธิพุ่งสูงขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 320 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลกำไรที่เกี่ยวข้องกับการออกใบสำคัญแสดง
สิทธิอนุพันธ์ ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ที่ประมาณ 2.2 พันล้านบาท โดยมีอัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 3.6 เท่า บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไป ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ 45% เทียบกับเกณฑ์ที่ทางการกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำรงไว้ที่ระดับ 7% ทริสเรทติ้งกล่าว