สธ.เผยน้ำท่วมครั้งนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต ย้ำ ! ประชาชนควรมีส่วนร่วมดุแลสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 19, 2012 17:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--กรมควบคุมโรค สธ.เผย!!น้ำท่วมครั้งนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต นอกจากการช่วยเหลือจากภาครัฐแล้วในเบื้องต้นประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการดูแลตนเองให้ปลอดภัย ปัจจุบันมีพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัดได้แก่ จังหวัดลำปาง แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ และจังหวัดปราจีนบุรีรวม 45 อำเภอ 238 ตำบล 1,317 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 57,729 ครัวเรือน 142,537 คน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนจำนวนมาก จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และให้ประสานกับ อสม.สำรวจผู้ป่วย คนชรา ผู้พิการ ในพื้นที่ความรับผิดชอบที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพื่อติดตามเฝ้าระวังและประสานให้การช่วยเหลือทันทีตลอด 24 ชั่วโมง และได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วม ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด มีการจัดระบบแจ้งเตือนภัยและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการให้ขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูงและป้องกันพื้นที่ไว้ล่วงหน้า พร้อมกับการป้องกันควบคุมโรคระบาดต่างๆที่อาจมาพร้อมกับอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตามประชาชนถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ในการเข้ามามีส่วนร่วมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่ต้น หากประชาชนได้รับความรู้ คำแนะนำที่ถูกต้องก็จะสามารถดูแลตนเอง ชุมชนก็จะสามารถช่วยเหลือกันและกันในเบื้องต้นได้อย่างปลอดภัย ด้านดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวหลังการลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่าหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัยเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแต่กลับถูกแม่น้ำยมทะลักเข้าท่วมเป็นรอบที่ 2 เมื่อช่วงคืนวันที่ 15 ก.ย.ผ่านมา ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่บานปลายถึงขั้นวิกฤติและสามารถรับมือได้ ในขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคก็ได้รับมอบหมายจาก รมว.กระทรวงสาธารณสุขให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ติดตามความพร้อมของระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยอย่างใกล้ชิด อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่าจากการลงพื้นที่ จ.สุโขทัยครั้งนี้ ยังคงพบชาวบ้านส่วนใหญ่ที่พักอาศัยภายในบ้านเรือนของตนเองทั้งที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ จึงได้แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพต่างๆที่มากับน้ำท่วม โดยเน้นเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุจากไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต การพลัดตกน้ำและการจมน้ำเสียชีวิต เนื่องจากประสบการณ์จากน้ำท่วมเมื่อปี 2554ที่ผ่านมา พบว่าไฟฟ้าดูดและการจมน้ำเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด และเตือนให้ประชาชนระวังเรื่องสัตว์มีพิษกัดต่อย ระวังโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออกฯลฯ พร้อมทั้งย้ำให้ประชาชนปฏิบัติใน 10 ข้อ เพื่อป้องกันโรคและภัยที่มากับน้ำได้แก่ 1. สวมเสื้อชูชีพก่อนลงน้ำ ใส่รองเท้าบู๊ต หรือสวมถุงพลาสติกก่อนลุยน้ำ 2. ล้างมือ ไม่กินอาหารค้างมื้อ ดื่มน้ำสะอาด 3. ป้องกันไม่ให้ยุงกัด 4. เก็บเศษอาหารและขยะใส่ถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้แน่น 5. มีโรคเรื้อรังอย่าลืมรับประทานยาประจำตัว 6. หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด 7. ถ้ามีอาการป่วยรีบแจ้งหน่วยแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน อย่าปล่อยไว้เกิน 2 วัน 8. สวมหน้ากากอนามัย และปิดปาก จมูก เวลาเป็นหวัด 9. ดื่มผงเกลือแร่โอ อาร์ เอส เมื่อมีอาการท้องเสีย 10. นำเด็กไปฉีดวัคซีนตามนัดหลังน้ำลด ทั้งนี้ระหว่างการตรวจเยี่ยมอธิบดีกรมควบคุมโรคได้มอบเวชภัณฑ์ป้องกันโรคจำนวน 1,000 ชุด ให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ และได้แจ้งช่องทางสำหรับการขอความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขไว้ให้ประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยสามารถติดต่อไปได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333 ในขณะที่ดร.นพ.ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก บอกว่า สคร.9 มีพื้นที่ความรับผิดชอบทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ซึ่งปกติแล้วพื้นที่ในความรับผิดชอบจะเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำป่า น้ำหลาก แต่น้ำท่วมจ.สุโขทัยในครั้งนี้เกิดจากการชำรุดของเขื่อน ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในย่านเศรษฐกิจแต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54 ที่ผ่านมา ปีนี้ถือว่ารุนแรงน้อยกว่า จากการประเมินสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ประสบภัยในครั้งนี้ ผอ.สคร.9 กล่าวต่อว่าทาง สคร.9 ได้เตรียมพร้อมด้านระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคและได้ออกให้บริการร่วมกับ รพ.สุโขทัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เมื่อมีผู้ป่วยมาใช้บริการก็จะทำการสำรวจและเก็บข้อมูลไว้ว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอะไรบ้าง สังเกตสิ่งบ่งชี้โรคอื่นๆ เช่น มีไข้ มีบาดแผล มีท้องร่วง ฯลฯ และการที่ชาวบ้านต้องเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำออกจากที่พักอาศัยเพื่อมาขอรับการช่วยเหลือ หรือรับของบริจาค อาจทำให้เท้าเกิดบาดแผลหรือติดเชื้อโรคต่างๆได้ เวชภัณฑ์ป้องกันโรคที่กรมควบคุมได้นำมามอบให้ไว้ ทั้งยาสามัญประจำบ้าน ยาทาโรคน้ำกัดเท้า ยาทากันยุง มุ้ง เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ผงน้ำตาลเกลือแร่ รวมทั้งรองเท้าบูท นับเป็นสิ่งจำเป็นมาก และจากการประเมินภาพรวมจากการลงพื้นที่ มีความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแลช่วยเหลือในเรื่องโรคและภัยสุขภาพเป็นอย่างดี หากพบปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีเช่นกัน/. ผอ.สคร.9 กล่าวปิดท้าย กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ