PM's Award 2004 รางวัลการันตี อีสต์โคสท์ กรุ๊ป ชู "คุณภาพ" เฟอร์นิเจอร์ไทย สู่ตลาดโลก

ข่าวเทคโนโลยี Thursday August 26, 2004 12:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--สวทช.
ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลก ในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปการแข่งขันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ราคาหรืออาศัยเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ "คุณภาพของสินค้า" โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องอาศัยความชำนาญและความประณีตของแรงงาน เฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ผู้ประกอบไทยต้องหันมาพัฒนาคุณภาพเพื่อการแข่งขัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากไม้ของไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ยางพารา ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้สำคัญรายหนึ่งของโลก สร้างรายได้ประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดี เรื่องของ "คุณภาพ" จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันได้
รางวัลออกแบบผลิตภัณฑ์ดีเด่นประจำปี 2547 หรือ รางวัล Prime Miniter's Export Award 2004 ถือเป็นผลสำเร็จในการพัฒนาองค์กร ของ นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์ กรุ๊ป จำกัด ที่ใช้เวลานับ 10 ปีกว่าจะพัฒนาองค์กรจากกิจการของครอบครัว ให้ก้าวขึ้นสู่เป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับแถวหน้าของไทย รางวัลดังกล่าวถือเป็นการันตีคุณภาพในระดับประเทศจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ที่สามารถใช้เป็นจุดขายและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพ
อีสต์โคสท์ กรุ๊ป เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกและจำหน่ายในประเทศภายใต้เครื่องหมาย "ELEGA" ปัจจุบันอีสต์โคสท์ กรุ๊ป ประกอบดัวย บริษัท อีสต์โคสท์ อินดัสทรี จำกัด, บริษัท อีสต์โคสท์ ดีไซด์ จำกัด และ บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด มีพนักงานกว่า 700 คน นับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับแรงงานไทยได้เป็นจำนวนมาก ยังไม่นับรวมแรงงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เป็นที่รับการยอมรับและทีรู้จักอย่างดี ในตลาดต่างประเทศที่มีสินค้ากระจายอยู่ทั่วโลกภายใต้แบรนด์ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน ยุโรป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และในตลาดสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ นอกจากการออกแบบ การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของแรงงานอีกด้วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ออกมาดีและมีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น บริษัท อีสต์โคสท์ฯ จึงได้ขอเข้ารับการสนับสนุนจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วยกัน 2 โครงการ ประกอบด้วย "โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเฟอร์นิเจอร์" และ "โครงการพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพการผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา"
"วันนี้ บริษัทฯ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว เปรียบเสมือนเด็กที่เริ่มหัดเรียนหนังสืออย่างเต็มที่" นายอารักษ์ ผู้ก่อตั้งอีสต์โคสท์กรุ๊ป กล่าว จากเดิมกิจการโรงเลื่อย-โรงอบไม้ยางพาราแปรรูปของครอบครัวจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ จึงหันมาเพิ่มมูลค่าให้กับไม้ที่โรงงานมีอยู่ จากการตัดและอบไม้ พัฒนามารูปแบบสินค้าขึ้นมาเรื่อยๆ แต่เมื่อมีการเปิดเสรี เกรงว่า จะสู้จีนไม่ได้ ในเรื่องของค่าแรงงาน และวัตถุดิบ จึงได้เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าชิ้นเล็กๆ มาทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ และเพื่อให้การส่งออกสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ ได้เพิ่มกำลังการผลิตอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้แผ่นเรียบ เช่น Particle Board และ MDF Board เมื่อทำมาได้สักระยะหนึ่ง บริษัทฯ จึงได้เริ่มมองตลาดในประเทศ และได้สร้างแบรนด์เป็นของตัวเองขึ้น ภายใต้เครื่องหมาย "ELEGA"
โดยในช่วงแรกบริษัทฯ ยังต้องอาศัยการผลิตตามใบสั่งซื้อของลูกค้าเป็หลัก ต่อมาเริ่มเปลี่ยนมาสู่การออกแบบสินค้าที่เป็นรูปแบบของตัวเอง จากนั้นนำสินค้าของบริษัทฯ ไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จนนำมาพัฒนารูปแบบสินค้าของบริษัทให้ดีขึ้น
"แต่กว่าที่บริษัทฯ จะมียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นในปัจจุบันนี้ บริษัทฯ ต้องลองผิดลองถูกอยู่นาน จนสามารถพัฒนาเป็นรูปแบบสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่ง สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การบริการที่รวดเร็ว และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปัจจุบันมีโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์อยู่กว่า 2 พัน - 3 พันแห่งทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีคุณภาพมาตรฐานและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ เรื่องของต้นทุนจึงถือเป็นหัวใจ" นายอารักษ์ กล่าว
สิ่งที่ทาง สวทช. ได้เข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต ภายใต้โครงการ ITAP โดยการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำแก่บริษัทฯ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก นอกจากเป็นการเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจถึงลักษณะธรรมชาติของไม้ยางพารา การตรวจสอบความชื้นและความแห้งของไม้(ซึ่งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะไม่มีติดตั้งกระเปาะเปียก ทำให้การอบไม้ที่ผ่านมาได้คุณภาพตามที่ต้องการ) รวมทั้งได้วางระบบกระบวนการการตรวจสอบคุณภาพที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการรับวัตถุดิบ ขึ้นตอนต่างๆ ระหว่างกระบวนการผลิต จนถึงผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป เพื่อลดของเสียให้กับพนักงานแล้ว ยังช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดของพนักงานให้มีความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม และความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมากขึ้น มีความสุขุม รอบคอบและมีวินัยมากขึ้น ปัญาหาความมักง่ายในการทำงานต่อไป
นายอารักษ์ กล่าวว่า "โครงการพัฒนาตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าไม้ยางพาราของ สวทช.ได้ช่วยให้ของเสียจากกระบวนการผลิตลดลงอย่างมาก และไม้ที่ตัดได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้นจากเดิมที่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ดีและถูกต้องแล้ว แต่ปรากฎว่าสิ่งที่ทำมาตลอดนั้นยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำ และการเสริมทักษะใหม่ๆ ให้กับแรงงานก่อให้เกิดผลดีต่อชิ้นงานที่ผลินออกมา ส่งผลให้บริษัทมียอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้"
นายอารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ การที่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยจะแข่งขันท่ามกลางการเปิดการค้าเสรีได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมต้นนำ, อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และภาครัฐ นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐ เข้ามาดูแลปัญหา Loading และ Packageing ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10-15% ของต้นทุนทั้งหมด หากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สวทช.เข้ามาจ้ดสัมมนาอบรมให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าว ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้มากขึ้น และพัฒนา Loading ซอฟแวร์ ราคาถูกออกมาใช้เป็นมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันที่มีอยู่มีราคาค่อนข้างแพง
น.ส.วลัยรัตน์ จังเจริญจิตต์กุล ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) กล่าวว่า การร่วมมือกับบริษัท อีสต์โคสท์ กรุ๊ป ในการสนับสนุนการอบรมและพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารานั้น เนื่องจากเห็นว่า เรื่องคุณภาพของวัตถุดิบถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมไม้ของไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ในอนาคต จึงนับเป็นเรื่องที่ดีที่บริษัท อีสต์โคสท์ กรุ๊ป ได้ให้ความสำคัญและริเริ่มเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต่อไป
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์จากไม้เหมือนกับสินค้าอื่นๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ อาหาร จึงต้องขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของผู้ประกอบการ แต่หากทุกฝ่ายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำหันมาตระหนักถึงคุณภาพของวัตถุดิบและมองในระยะยาวแล้วก็จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม หากสามารถพัฒนาคุณภาพไม้จากต้นน้ำให้ดีแล้ว เมื่อนำมาผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำก็จะสามารถนำไม้นั้นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น และสามารถส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายใดที่สนใจต้องการขอเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ ITAP สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2564-800 หรือ ที่เว็ปไซด์ www.nstda.ot.th/itap
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ คตุณนก ฝ่ายประชาสัมธ์ (TAP 0-2298-0454, 0-1421-8133)--จบ--
--อินโฟเควสท์ (ชพ/กภ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ