กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
องค์การ Humanitarian Affairs แห่งสหราชอาณาจักร ได้มีการเชิญมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ส่งนักศึกษาเข้าร่วมประชุม “3rd University Scholars Leadership Symposium 2012” ในหัวข้อ “Marking Young headers” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายากจนทั่วโลกและปัญหาด้านมนุษยธรรมที่มีผลต่อโลกปัจจุบัน ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยมหาวิทยาลัยได้คัดเลือกนักศึกษาจำนวน 9 คน ในการเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ “ท๊อป” นายพิธิวัฒน์ ปะมาคะเต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ “แหวน”
นางสาวเพียงรวินทร์ สุขบรรจง “กนก” นางสาวกนกพร ยืนยง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ “แพ๊ตตี้” นางสาวณัฏฐ์นิดา ปิติมล “อาร์ม” นายรัฐพล ภัยขยาด นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขา International Business English คณะบริหารธุรกิจ (IBBA) “ทิว” นายตะวันวงศ์ ศรีทอง “ตาล” นางสาวธารฤทัย บุญศิริ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ (IBBA) คณะบริหารธุรกิจ “ป้อง” นายจิรภัทร น้ำแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ “เฟิร์ส” นายปกป้อง จินตประสาท นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7 วันในการใช้ชีวิตร่วมกับนักศึกษาต่างประเทศประมาณ 400 - 500 ชีวิต แบ่งกลุ่มออกเป็น 10 กลุ่ม ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำกิจกรรมร่วมกัน กระบวนการในการแบ่งกลุ่มย่อย สรุปกลุ่มใหญ่ มีการนำเสนอผ่านการพรีเซ็นต์ของแต่ละกลุ่ม ผ่านทางละคร การทำเป็นคลิปวีดีโอ นอกจากนี้ยังได้มีการทำกิจกรรมนอกสถานที่ เช่น กับเด็กด้อยโอกาสในมูลนิธิต่างๆ ซึ่งทั้ง 9 ชีวิต มีความรู้สึกอย่างไรในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้
แพ๊ตตี้ เล่าว่า สนใจโครงการนี้เพราะว่า อยากจะพัฒนาทักษะทางด้านความเป็นผู้นำ กำลังสนใจในเรื่องของมนุษยธรรมกระบวนการทำงานทางด้านนี้ โดยในการเข้ากลุ่มย่อย ทางกลุ่มได้รับหัวข้อในการช่วยกันแสดงความคิดเห็น “การด้อยโอกาสทางด้านการศึกษา” โดยทุกคนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ซึ่งในครั้งนี้ได้รับรู้การทำงานที่แท้จริง จิตอาสาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ซึ่งความคิดเห็นของแต่ละคนที่แสดงออกมามีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังได้ “นำขลุ่ย” เครื่องดนตรีไทยไปร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย ได้แนะนำเพลง “ลาวจ้อย” ให้เพื่อนชาวอินโดนีเซีย “7 วันในต่างแดน ทำให้มีความรู้สึกอยากจะกระตุ้นตัวเองและรุ่นน้องในเรื่องของภาษา พัฒนาทางด้านภาษาให้มากขึ้น” เพื่อศักยภาพในการพัฒนาตนเอง
ทิว เล่าว่า อยากจะฝึกภาษาอังกฤษ และทดลองความสามารถทางด้านความเป็นผู้นำ เพราะว่า กำลังจะสำเร็จการศึกษา เป็นครั้งแรกที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษที่เรียนมาอย่างจริงจัง เพราะว่า ต้องพูดคุยกับเพื่อนต่างชาติ ประสบการณ์ในการครั้งนี้คุ้มค่า โดยขอแบ่งประสบการณ์ในการครั้งนี้ ออกเป็น 2 ส่วน คือ ประสบการณ์ภายใน ได้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น กล้าแสดงออกมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประสบการณ์ภายนอก ได้เพื่อนต่างประเทศซึ่งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในเรื่องของ AEC ว่าคิดอย่างไรกับการร่วมมือในครั้งนี้ หลังจากที่กลับมายังมีการติดต่อกับเพื่อนทาง Facebook “มุมมองในการมองสิ่ง 1 สิ่ง ทุกคนต่างมองไปหลายด้าน ซึ่งถือว่าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน”
ท็อป เล่าว่า เคยเข้าร่วมโครงการ “ลูกเสือโลก” ตอนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ประเทศออสเตรเลีย จึงอยากจะเข้าร่วมโครงการแบบนี้อีก เพราะว่า โครงการในครั้งนั้นได้รับประโยชน์กลับมามากมาย “ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเพื่อนต่างประเทศ ที่มีอุดมคติในเรื่องของจิตอาสา ซึ่งทุกคนที่มาร่วมโครงการ ต่างมีจุดประสงค์ที่เหมือนกัน คือ ภาวะของความเป็นผู้นำ” โดยวิถีชีวิตของคนแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เป็นเหมือนเฟืองที่พร้อมจะขับเคลื่อนและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลก โดยในครั้งนี้ได้นำไอเดียทางด้านสถาปัตยกรรมไปประยุกต์ใช้ ถือว่านำเรื่องการเรียนไปใช้
ป้อง เล่าว่า อยากจะพัฒนาทางด้านภาษา ไม่เก่งภาษา แต่มีความรู้ทางด้านคำศัพท์ชีววิทยา สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเดินทางครั้งนี้ได้ ได้รับแนวคิดดีๆ จากวิทยากร Robin Lim CNN Heroes 2 ปีซ้อน ซึ่งเป็นคุณหมอทำคลอด ช่วยทำคลอดผู้มีปัญหาครอบครัว ความเป็นจิตอาสาถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ โดยเทอมหน้าจะออกไปฝึกงานสหกิจที่ประเทศไต้หวัน เป็นผลพลอยได้ระหว่างการเข้าร่วมโครงการได้เพื่อนไต้หวันแลกเปลี่ยนความรู้ แต่อีก 3 ปี ประเทศไทยจะเข้าร่วมกลุ่มประชาคมอาเซียน ฉะนั้นต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนอาเซียน เพื่อหาและเตรียมความพร้อมไว้ในอนาคต
ขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่ได้นำโครงการดีๆ เข้ามาในครั้งนี้ ขอบคุณอาจารย์ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ ดร.ชุมพล พรประภา คอยสนับสนุนให้ทุนและคำปรึกษา จากความคิดเห็นและประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ทั้ง 9 ชีวิต ได้จัดตั้ง “ชมรม Humanitarian Affairs” ขึ้นมา เพื่อเตรียมความพร้อมของน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ จัดกิจกรรมที่พัฒนาศักยภาพร่วมกัน ปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ ช่วยเหลือผู้อื่น ในอนาคตข้างหน้า ทั้ง 4 กล่าวทิ้งท้าย