ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม ส.ค. ต่ำสุด ในรอบ 8 เดือน แนะรัฐสร้างความมั่นใจแผนป้องกันน้ำท่วม ช่วยเอสเอ็มอีเหตุค่าจ้าง ส่งเสริมการลงทุนเพื่อนบ้าน เน้นบริโภคภายในประเทศกระตุ้นครึ่งปีหลัง

ข่าวทั่วไป Thursday September 20, 2012 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม 2555 จำนวน 1,099 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 34.3, 42.0 และ 23.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 38.6, 17.3, 15.6, 14.5, และ14.0 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.4 และ19.6 ตามลำดับ โดยจากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนสิงหาคมทรงตัวอยู่ที่ระดับ 98.5 โดยลดลงเล็กน้อยจากระดับ 98.7 ในเดือนกรกฎาคม ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ค่าดัชนีปรับลดลงต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 8 เดือน สะท้อนว่าผู้ประกอบการไม่มั่นใจต่อการประกอบการ สอดคล้องกับหลายหน่วยงานที่ได้ปรับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่ประมาณการไว้ช่วงต้นปี โดยสาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อขายภายในประเทศขยายตัวขึ้น เห็นได้จากดัชนียอดขายภายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นี้ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ104.8 ในเดือนกรกฎาคม ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจาก องค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนการประกอบการและผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อมปรับเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมขนาดกลางทรงตัว และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 96.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.8 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 103.7 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนการประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 101.7 เท่ากับในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.5 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 95.5 ลดลงจากระดับ 95.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นต้น ขณะดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากระดับ 104.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ด้าน ดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนสิงหาคม พบว่าภาคกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯเพิ่มขึ้น ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลง ภาคกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ที่ระดับ 100.1 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 94.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุปสงค์ในภาคกลางยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากค่าดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 96.0 โดยปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 96.1 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ ต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ราคาก๊าซ LPG ค่าจ้างแรงงานและการขาดแคลนแรงงานฝีมือ เป็นปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคเหนือในเดือนสิงหาคม สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ107.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 103.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 106.0 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ การขาดแคลนแรงงานและปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังขยายตัวได้ดี จากการขยายการลงทุนของกิจการที่ประสบปัญหาจากภัยน้ำท่วมในปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.0 ลดลงจากระดับ 113.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 103.6 ลดลงจากระดับ 105.5 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังได้รับผลดีจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังขยายตัวได้ดี สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.4 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 93.5 ลดลงจากระดับ 94.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ขณะเดียวกันผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญของภาคใต้ อาทิ ยางพารา ที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตกรและสะท้อนถึงการใช้จ่ายในภาพรวมของประชาชนในพื้นที่ สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมและปริมาณการผลิต สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทั้งกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศยังทรงตัว และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับลดลงจากเดือนกรกฎาคม กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100.1 โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 100.0 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม และต้นทุนประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 91.8 ลดลงจากระดับ 93.0 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.9 ลดลงจากระดับ 104.1 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวมและผลประกอบการ สำหรับด้?านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคมพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกมากที่สุด รองลงมา คือ ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนสิงหาคมนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐสร้างความมั่นใจแผนป้องกันน้ำท่วม เร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านและมีการกระตุ้นการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ