กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กรมป่าไม้
กรมป่าไม้นำคณะสื่อมวลชนจากกรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชนในภูมภาค สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ การดำเนินงาน ของกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในท้องที่จังหวัดชัยภูมิที่ผ่านการฝึกอบรมโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่ากับกรมป่าไม้ เพื่อรับทราบความคิด ความตั้งใจ และจิตอาสาในการร่วมกันพิทักษ์ป่ารักษาทรัพยากรป่าไม้
นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า ๖๐ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ ผู้ประทับเคียงข้างพระองค์ในทุกหนแห่งที่เสด็จพระราชดำเนิน ทรงรับสนองพระราชดำริ เอาพระราชหฤทัยใส่ ทรงห่วงใย และทรงอุปถัมภ์งานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ป่าไม้” มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมุ่งเน้นให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าหรือใกล้ป่าที่สามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และฝึกอาชีพ เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนจากอาชีพตัดไม้ทำลายป่า มาปลูกป่าเพื่อมีรายได้เลี้ยงปากท้อง ดำรงชีพอยู่ได้ มีไม้ใช้สอยโดยไม่ต้องไปเบียดเบียนไม้ในธรรมชาติ ดังจะเห็นได้ในหลายโครงการ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิติ และ โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า เป็นต้น
โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า หรือ รสทป. เป็นโครงการตามแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการว่า “...หากคนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ป่านั้นมีความเข้าใจว่า การพิทักษ์ป่า คือการรักษาชีวิต ของเขาเองแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะดูแลรักษาป่าไม้ด้วยความเต็มใจ เมื่อป่าได้รับการดุแลรักษาเป็นอย่างดีแล้ว ป่าก็จะอำนวยประโยชน์กลับมาให้พวกเขาอย่างประมาณค่ามิได้ และเมื่อพวกเขาได้รับประโยชน์จากป่าอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะมีกำลังใจในการดูแลรักษาป่ามากยิ่งขึ้น สุดท้ายก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่า คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ” แนวพระราชดำริดังกล่าวนี้ ทรงมีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนทัศนคติของราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายป่า มาเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการหยุดยั้งการทำลายป่า
กองทัพภาคที่ ๓ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๒ ได้สนองแนวพระราชดำริและได้ริเริ่มโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ขึ้น เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยกรมทหารราบเฉพาะกิจที่ ๖ ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี และกรมป่าไม้โดยป่าไม้เขตอุบลราชธานี และป่าไม้จังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนั้น จัดการอบรมราษฎรเพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้ป่า ให้เห็นคุณค่าความสำคัญของป่าไม้ หยุดยั้งการบุกรุก ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า แล้วหันมาช่วยกันดูแลรักษาป่าที่ยังเหลืออยู่ ฟื้นฟูสภาพป่าที่เคยถูกทำลาย ด้วยการปลูกป่าเพิ่มเติม และดูแลรักษาป่าให้คืนความอุดมสมบูรณ์
ในการดำเนินโครงการดังกล่าว กรมป่าไม้ ได้ร่วมสนับสนุนทั้งในด้านกำลังคนและงบประมาณ รวมทั้งได้นำโครงการฝึกอบรม รสทป. นี้ มาขยายผลการดำเนินงานไปทั่วประเทศตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ ภายใต้ความร่วมมือและการประสานงานอย่างใกล้ชิดของทุกภาคส่วน ได้แก่ กองทัพภาคทุกภาค กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงปัจจุบันมีราษฎรที่ได้รับการฝึกอบรมเป็น รสทป. ประมาณ ๑๔๕,๐๐๐ คน
สืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดตั้ง “โครงการธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” เพื่อพระราชทานแก่หมู่บ้าน ชุมชน หรือกลุ่มราษฎรที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง ดูแลรักษาชีวิตสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ละเลิกการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และไม่ล่าสัตว์ จนเป็นที่ยอมรับจากชุมชนในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยคณะกรรมการโครงการธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต เป็นผู้คัดเลือกชุมชนหรือกลุ่มราษฎรที่มีผลงานตามเกณฑ์เป้าหมายให้เข้ารับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นความฝันอันสูงสุดของบรรดา รสทป. ที่จะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานธงพิทักษ์ป่า และร่วมถวายความจงรักภักดี ทำความดี ดูแลป้องกันรักษาป่า ช่วยกันปลูกป่า เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระแม่ของแผ่นดิน
กรมป่าไม้ ตระหนักถึงความสำคัญของ รสทป. จึงกำหนดจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรในเดือนสิงหาคม เพื่อสัมผัสชีวิตการทำงานของกลุ่ม รสทป. ในจังหวัดชัยภูมิ ที่มีหมู่บ้านที่ได้รับพระราชทานธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต ขั้นที่ ๑ ช้าง ๑ ตัว จำนวน ๖ หมู่บ้าน และธงขั้นที่ ๒ ช้าง ๒ ตัว จำนวน ๑ แห่ง คือป่าชุมชนเขาวง ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว ซึ่งเป็นป่าชุมชนดีเด่นที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ของกรมป่าไม้และบริษัทผลิตไฟฟ้า ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ด้วย
“ปัญหาเรื่องป่าไม้ เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนจะต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะผลเสียจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม “พันธกิจของผู้พิทักษ์” จึงมิใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน จะต้องร่วมมือ ร่วมใจ ผนึกกำลังกันต่อสู้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะท้ายที่สุดแล้ว พลังแห่งความร่วมมือ ร่วมใจ และจิตสำนึกรักษ์ป่าด้วย ความเต็มใจและสมัครใจ ของประชาชนในท้องที่จะเป็น เกราะป้องกัน การบุกรุกทำลายป่าได้ดีกว่ากฎข้อบังคับใด ๆ” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว