กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--พม.
จากสภาวการณ์และพฤติกรรมของเด็ก เยาวชนในช่วงวัย 12 — 25 ปีที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาคุณภาพของชีวิต เช่น การติดเกมส์ ติดการพนัน ติดสารเสพติด ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การทะเลาะวิวาทใช้ความรุนแรง ฯลฯ ซึ่งสภาวะดังกล่าวบ่งชี้ถึงการขาดภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต สาเหตุสำคัญมาจากครอบครัวไม่สามารถบริหารจัดการเลี้ยงดู ขาดการดูแลเอาใจใส่ มุ่งในเรื่องของการประกอบอาชีพ อีกทั้งสภาพแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นที่มีบทบาทนำ หรือมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการพัฒนาเด็กยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนได้ดีเท่าที่ควร ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) จึงร่วมกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาเด็ก ตลอดจนตัวแทน ครอบครัว และแกนนำ เยาวชนตำบล ได้ร่วมกันดำเนินงาน โครงการสร้างคุณภาพเด็กและเยาวชน “วัยใสใส่ใจทำดี Teen To Be Good” ขึ้นเป็นปีแรก และได้จัดงานยกย่องเชิดชูเกียรติ ครอบครัว ชุมชน สร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชน “วัยใสใส่ใจทำดี Teen To Be Good” พร้อมจัดนิทรรศการ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรม ทาวน์ อิน ทาวน์ กรุงเทพฯ
นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานในงานเปิดเผยว่า “ ขณะนี้สังคมไทยกำลังประสบปัญหาเด็กและเยาวชนในหลาย ๆ เรื่อง มาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาประมาณ 10-20 ปี โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคธุรกิจทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ ตลอดจนงบประมาณดำเนินการทั้งทางด้านการพัฒนา ป้องกัน แก้ไข บำบัด ฟื้นฟู แต่สถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นสถานการณ์เด็กและเยาวชนเดิม ๆ ยังไม่ลดลง แต่กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับผลงานวิจัยทางวิชาการหลายฉบับได้ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาตรงกันคือ เด็กไทยส่วนใหญ่ขาดการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมขั้นพื้นฐาน หรือไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยที่ดีตั้งแต่เยาว์วัยจากครอบครัว หรือพูดได้ว่าครอบครัวและชุมชนในยุคปัจจุบันไม่สามารถทำหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กได้อย่างสมบูรณ์แบบเท่ากับครอบครัวไทยในอดีต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนได้รับการพัฒนาอย่างมีทิศทางและยั่งยืน”
ทั้งนี้ในการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2555 — 2559 กำหนดวิสัยทัศน์ให้เด็กและเยาวชนมี “ความมั่นคง แข็งแรง ดี มีสุข และสร้างสรรค์” มียุทธศาสตร์สำคัญคือ การสร้างภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตของเด็กและเยาวชนโดย สท.เป็นหน่วยงานหลัก สร้างความร่วมมือผลักดันให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมลงทุนพัฒนาเด็กทุกรูปแบบ และให้เกิดผลเชิงคุณภาพต่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง
โดยรูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกัน ในการดำรงชีวิตของเด็กและเยาวชนนั้น ได้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาคนของสหประชาชาติ (UN concept) ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน 6 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1. คุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม เป็นการปฏิบัติตามหลักศาสนาที่นับถือศาสนาพุทธ ฝึกเยาวชนให้มีจิตใจสงบ นั่งสมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ กราบไหว้พ่อแม่ ใฝ่ทำดี มีเป้าหมายในชีวิต
มิติที่ 2. การดำรงชีวิต เป็นการฝึกให้เยาวชนตระหนักในหน้าที่ มีวินัย และความรับผิดชอบ เช่น ทำความสะอาด จัดเก็บเป็นระเบียบ ช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน
มิติที่ 3. วิชาการ เป็นการฝึกเยาวชนให้มีความฉลาด รอบรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เช่น ทบทวนตำราเรียน ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
มิติที่ 4. สังคม เป็นการฝึกเยาวชนรู้จักสร้างมิตรภาพที่ถูกต้องเหมาะสม รู้จักมารยาทและกาลเทศะ บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม
มิติที่ 5. อาชีพ เป็นการฝึกเยาวชนให้เรียนรู้อาชีพพื้นฐานที่สุจริต รู้จักออมเงิน เรียนรู้อาชีพในครอบครัว ชุมชน เพื่อที่จะสามารถพึ่งตนเองได้
และมิติที่ 6. นันทนาการ เป็นการฝึกเยาวชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำงานสร้างสรรค์ตามความชอบ หรือความสนใจ
นายสมคิด สมศรี รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และ ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า
“ที่ผ่านมามีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาเด็กในพื้นที่เป้าหมายต้นแบบทั้ง 6 มิติดังกล่าว ใน 12 จังหวัดต้นแบบ จำนวน 33 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง นครราชสีมา อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ จันทบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเด็กและเยาวชนอายุ 7 — 18 ปี จะได้รับการฝึกกิจวัตรประจำวัน และ กิจกรรมประจำร่วมกับครอบครัว และชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ได้รับความสนุกสนานพร้อมกับได้รับการปลูกฝังในสิ่งที่ดีครอบคลุมทั้ง 6 มิติเป็นไปตามคาดหมาย เด็ก ๆ มีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ปกครอง ชุมชมเครือข่ายมีความกระตือรือร้นร่วมกันทำกิจกรรม โดยเมื่อจบกิจกรรมแล้ว ทางโครงการฯจึงได้จัดงานเชิดชูเกียรติ การเสวนา การแสดงความสามารถของเด็กและเยาวชนที่ร่วมโครงการฯ และได้รับการคัดเลือกมา จัดแสดงในงาน โครงการสร้างคุณภาพเด็กและเยาวชน “วัยใสใส่ใจทำดี Teen To Be Good”ในวันนี้ ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการขยายกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาเด็กไปยังจังหวัดอื่น ๆ ให้ครบทั่วประเทศ” นายสมคิด สมศรี กล่าว
ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งโครงการสร้างคุณภาพเด็กและเยาวชน “วัยใสใส่ใจทำดี Teen To Be Good” เข้าประกวดในปีนี้ประกอบด้วยพื้นที่จากภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ จำนวน 12 จังหวัด 33 พื้นที่ โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้รับรางวัลดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลเซเป็ด อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
รางวัลรองชนะเลิศ อับดับ 2 ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลพังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
พร้อมกันนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 25 รางวัล
นางสุคนธ์ทิพย์ นาราอาสน์ อายุ 39 ผู้นำโครงการฯ อบต.ท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า ได้ริเริ่มโครงการวัยใสใส่ใจทำดี มา 3 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้เป็นครูนำเต้นแอโรบิค และเป็นอาสาสมัครเป็นครูสอนในหมู่บ้าน เหมือนเป็นครูพิเศษ ยามว่างก็จะนำเด็กไปเรียนนวดแผนโบราณ เพื่อมานวดให้พ่อกับแม่ และไปนวดหารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว โดยตนเองไปเรียนนวดมาจากวัดโพธิ์ และนำมาสอนเด็ก ๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนั้นยังสอนเด็ก ๆ ให้นำขยะมารีไซเคิล เช่น นำขวดพลาสติกมาทำเป็นตัวปลา และยังสอนให้เด็ก ๆ ปลูกผักสวนครัวในโรงเรียนไว้ใช้กิน
นางกุหลาบทิพย์ เสตพันธ์ อายุ 43 ปี ผู้นำโครงการฯ อบต.เซเป็ด อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เปิดเผยว่า ได้เริ่มทำงานนี้โดยได้เงินสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ จำนวน 220,000 บาท เพื่อนำมาจัดตั้งโครงการเพื่อพัฒนาทักษาความรู้ความสามารถของคนในชุมชน เริ่มจากการประชาสัมพันธ์รับสมัครเยาวชนและชาวบ้านในตำบล โดยการวางแผนความคิดต่อยอดจากกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมชมรมการแสดงละครสะท้อนชีวิต การนำสิ่งของที่มีอยู่ในแล้วในหมู่บ้านมาแปรรูปแล้วส่งขาย เพื่อให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและเลี้ยงตัวเองได้ และจากการสำรวจพบว่าเยาวชนมีความเป็นอยู่ที่ดีเปลี่ยนไปเกินครึ่งหนึ่งของเยาวชนที่มีอยู่ในชุมชน