กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กรมการแพทย์
แพทย์เตือนทำสวยด้วยเลเซอร์อาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง แนะ!! ต้องรู้จักเลือก ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐาน หากเกิดผลข้างเคียงหรือรอยแผลเป็น อาจไม่สามารถแก้ไขให้เหมือนเดิมได้
นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคผิวหนังเป็นปัญหาสำคัญ ด้านสาธารณสุขและเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสี่ของประเทศ ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคผิวหนังเข้ารับการรักษาจากสถาบันโรคผิวหนังนับหลายแสนราย แยกเป็นผู้ป่วยในเวลาราชการ 140,000 ราย คลินิกนอกเวลา 40,000 ราย และเป็นผู้ป่วยในประมาณ 300 ราย ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 18-35 ปี ช่วงเวลาที่เข้ามารับการรักษาจะเป็นช่วงก่อนวันหยุดยาวและมากกว่าครึ่งเป็นคนไข้ที่มาจากต่างจังหวัด โดยโรคผิวหนัง 3 อันดับแรกที่มารับการรักษาคือ 1.ผื่นแพ้ที่เกิดจากการแพ้ยา แพ้ผงซักฟอก การติดเชื้อไวรัสและติดเชื้อรา 2.ปัญหาสิวโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น และ 3.ปัญหาเรื่องสีผิวไม่สม่ำเสมอ
การรักษาปัญหาโรคผิวหนังแต่ละชนิดแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามสภาพอาการ มีทั้งยากิน ยาทาและการรักษาด้วยโฟโต้เธอราปีหรือพลังงานแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งจะเป็นการคัดเลือกเอาบางช่วงของแสงมาทำการรักษา เช่น การรักษาโรคสะเก็ดเงิน และโรคด่างขาว เป็นต้น อีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันก็คือการทำเลเซอร์ โดยพบว่าร้อยละ 95 เป็นการเลเซอร์เพื่อความสวยความงาม เช่น การเลเซอร์รักษาริ้วรอยบนใบหน้า รักษาผิวพรรณกำจัดขน รักษากระ ตุ่มเนื้องอก ตุ่มไขมัน ปานดำ ปานแดง ลบรอยสัก ฯลฯ
“หากเลือกใช้เลเซอร์ที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ นอกจากคนไข้ต้องเสียเงินจำนวนมากในการรักษาแล้ว อาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือรอยแผลเป็นจนไม่สามารถแก้ไขให้เหมือนเดิมได้ กลายเป็นกรณีปัญหาที่มีการฟ้องร้องให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน” นพ.จิโรจ กล่าว
ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่าศูนย์เลเซอร์สถาบันโรคผิวหนัง เปิดให้บริการรักษาด้วยเลเซอร์ครอบคลุมทั้งปัญหาโรคผิวหนังและปัญหาผิวพรรณแก่ประชาชนทั่วไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยแพทย์ผิวหนังที่ผ่านการฝึกอบรมและมีความเชี่ยวชาญด้านเลเซอร์โดยเฉพาะ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานทางการแพทย์ มีการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำและได้ผลดีต่อการรักษา ในแต่ละวันจะมีผู้มาใช้บริการการรักษาด้วยเลเซอร์ไม่ต่ำกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิวพรรณ ใบหน้าหมองคล้ำ กระ ฝ้า รอยสิว ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ทำให้ผิวดูอ่อนวัยขึ้น ยกกระชับผิว แก้ปัญหาแผลเป็นจากสิว แผลเป็นนูน และรักษาเส้นเลือดขอด ส่วนที่เหลือไม่ถึงร้อยละ 5 จะเป็นการรักษา ปานแดง ปานดำ และเนื้องอก
“ อย่างไรก็ตามรักษาด้วยเลเซอร์ควรคำนึงถึงปัญหาผิวหนังที่เป็นอยู่ว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ว่าจะเกิดผลข้างเคียงหรือเปล่า เนื่องจากเครื่องเลเซอร์มีหลายชนิดแต่ละชนิดจะให้การรักษาจำเพาะปัญหาและมีผลเฉพาะในการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น เลเซอร์ที่ใช้รักษาเม็ดสี เช่น ฝ้า กระ ปานดำจะมีคลื่นแสงจำเพาะที่ทำลายเฉพาะเม็ดสีให้แตกสลายทำให้สีผิวที่เป็นฝ้าจางลง ส่วนแสงเลเซอร์ที่ใช้รักษาริ้วรอยบนใบหน้า จะผ่านทะลุผิวหนังเพื่อกระตุ้นการสร้างใยคอลลาเจนเพิ่มมากขึ้นทำให้ริ้วรอยต่างๆดีขึ้น เป็นต้น แต่การรักษาด้วยเลเซอร์ไม่แนะนำสำหรับสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่เกิดผื่นแพ้ง่าย” นพ.จินดา กล่าว