กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE)ผุดโครงการ “ร้าน 0 บาท” ต้นแบบแห่งที่ 2 ที่ชุมชนเคหะดินแดง
-ต่อยอดแนวคิดธนาคารขยะออมทรัพย์ เพิ่มทางเลือกแลกคูปองช็อปสินค้าที่ร้าน 0 บาทเสริมแนวทางการสร้างอาชีพชุมชนใช้ไอเดียเพิ่มมูลค่าสินค้าสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล-
TIPMSE เปิดตัวร้าน 0 บาท แห่งที่ 2 ณ ชุมชนเคหะดินแดง ร้านต้นแบบแห่งล่าสุด ที่พัฒนามาจาก ธนาคารขยะออมทรัพย์ พร้อมเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ฝากด้วยการรับคูปองเงินสดนำไปแลกสินค้าอุปโภค บริโภคในร้าน 0 บาท ได้ตามความพอใจ ทั้งยังหนุนสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งประดิษฐ์รีไซเคิล โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจุดประกายความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า และสอนการ บุกตลาดสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 19 กันยายน ศกนี้
นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) เปิดเผยว่า จากการที่สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIPMSE ได้ทำการเปิดตัวร้าน 0 บาทสาขาแรกของประเทศไทย ที่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้สังคมรีไซเคิลของ TIPMSE หรือ TIPMSE Learning Center ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการจัดการขยะด้วยวิถีของความพอเพียง ไม่ว่า จะเป็น “ร้าน 0 บาทต้นแบบ” ที่ตอบโจทย์เรื่องปากท้องของผู้มีรายได้น้อย การจัดทำสวัสดิการให้สมาชิก ในชุมชนด้วยขยะ และการทำสวนเกษตรคนเมืองที่มีการใช้ประโยชน์จากการแปรรูปขยะได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชุมชนอื่นๆ และบุคคลทั่วไปที่สนใจที่ได้มาเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของร้าน 0 บาท ซึ่งถือเป็นต้นแบบอันดีของร้านค้าที่รับวัสดุ รีไซเคิลแทนเงินสด และเป็นนวัตกรรมใหม่ทางสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง เพื่อให้ร้าน 0 บาท อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน, ช่วยลดค่าครองชีพ และสร้าง “วัฒนธรรมใหม่ คนรุ่นใหม่ ร่วมใจกันคัดแยกขยะ” ซึ่งหลังจากการเปิดตัวโครงการร้าน 0 บาท ที่ผ่านมา ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากคนไทยจากทั่วประเทศที่ติดต่อขอเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการ ซึ่งปัจจุบัน ได้ทำการอบรมแล้ว 2 รุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมรวม 40 ราย จนล่าสุดสามารถเปิดร้าน 0 บาท แห่งที่ 2 ได้สำเร็จภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มรวมมิตร 2011 ณ ชุมชนเคหะดินแดง
“ปัจจุบันร้าน 0 บาท แห่งที่ 2 ได้เปิดตัวขึ้นแล้วที่ชุมชนเคหะดินแดง เขตดินแดง ซึ่งร้าน 0 บาทสาขานี้ถือเป็น อีกรูปแบบหนึ่งของร้าน 0 บาท ที่ได้มีการต่อยอดมาจากการทำธนาคารขยะออมทรัพย์ ภายใต้การดำเนินงาน ของกลุ่มรวมมิตร 2011 ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายสังคมรีไซเคิลของ TIPMSE ที่มีการส่งเสริมการจัดการวัสดุ รีไซเคิลในที่อยู่อาศัย ซึ่งเห็นว่าแนวคิดร้าน 0 บาท เป็นแนวทางที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในกลุ่ม และมองว่าจะเป็นสวัสดิการพร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพให้กับสมาชิกที่นำวัสดุรีไซเคิลมาฝากได้ ดังนั้น จึงได้สมัครเป็นเครือข่ายร้าน 0 บาท แห่งที่ 2 ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กันยายน 2555 นี้ โดยมุ่งเน้นการต่อยอดจากธนาคารขยะออมทรัพย์ กล่าวคือ ลูกค้าสามารถนำขยะมาฝากธนาคารโดยธนาคาร จะตีมูลค่าเป็นเงิน พร้อมนำฝากในสมุดคู่ฝาก หรือ หากสมาชิกรายใด ต้องการนำขยะดังกล่าวแลกเป็นสินค้า ก็สามารถรับเป็นคูปองเงินสด เพื่อจะนำไปแลกสินค้าที่ร้าน 0 บาทได้ตามมูลค่าในคูปอง ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของร้าน 0 บาท ที่ได้มีการปรับรูปแบบในการดำเนินการให้เหมาะสมกับชุมชนของตน” นายสมพงษ์ ตันเจริญผล กล่าว
ทั้งนี้ ร้าน 0 บาท แห่งที่ 2 ที่ชุมชนเคหะดินแดง มีความโดดเด่นด้านการแปรรูปสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล เพื่อเพิ่มมูลค่าแบบครบวงจร ทั้งในส่วนของการผลิต การทำตลาด และการอบรมการทำสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง “แหล่งเรียนรู้สังคมรีไซเคิลของ TIPMSE” หรือ TIPMSE Learning Center ที่จะเป็นแหล่งการพัฒนา และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิลประเภทต่างๆ นอกจากนี้ ยังเริ่มต้นจากการต่อยอดจาก ธนาคารขยะออมทรัพย์ที่ได้ดำเนินการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น ทางคณะทำงานจึงมีความสนใจต่อยอดจากการรับฝากขยะมาเป็นร้าน 0 บาท เพื่อเป็นร้านสวัสดิการให้สมาชิกในกรณีที่สมาชิกต้องการ จะถอนเงินจากขยะที่นำมาฝากเพื่อแลกสินค้าก็จะได้รับคูปองเงินสด เพื่อนำมาแลกสินค้าในร้าน 0 บาท ซึ่งจุดนี้จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของร้าน 0 บาท ที่แตกต่างไปจาก ร้านต้นแบบที่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่
นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบัน TIPMSE กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันกลุ่มรวมมิตร 2011 มีสมาชิกธนาคารขยะจำนวน 150 ราย ซึ่งมีการรับฝากขยะกันทุกสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน หลังจาก ที่มีการเปิดร้าน 0 บาท สมาชิกสามารถขอรับเป็นคูปองเงินสดได้ที่ธนาคารขยะและนำไปแลกสินค้า ในร้าน 0 บาทที่เปิดให้บริการอยู่บริเวณใกล้เคียงได้ทุกวัน โดยสินค้าในร้าน 0 บาท ที่ชุมชนเคหะดินแดง เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันตามความต้องการของชุมชน”
ทั้งนี้ ร้านต้นแบบโครงการ “ร้าน 0 บาท” ได้เปิดให้บริการร้านแรก ณ ศูนย์คัดแยกวัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพ ซาเล้ง อ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ และเปิดแห่งที่ 2 ที่ชุมชนเคหะดินแดง โดยร้าน 0 บาทต้นแบบทั้ง 2 แห่ง เปิดกว้างให้แก่ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจถึงรูปแบบการจัดการได้ นอกจากนี้ ทาง TIPMSE ยังเปิดรับสมัครบุคคลหรือชุมชน หมู่บ้าน ที่มีความสนใจจะเปิดดำเนินกิจการร้าน 0 บาท สามารถติดต่อสถาบันได้โดยตรง เพื่อศึกษารูปแบบและเงื่อนไขการดำเนินการ โดยทาง TIPMSE จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนสื่อส่งเสริมการขายและให้การอบรมก่อนการดำเนินการเปิดร้าน
โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) โทร 02-272-1552 ต่อ 19 หรือ http://www.facebook.com/0bahtshop
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์:
บริษัท โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
จาจิญา เพ็งพันธ์ และชวิสรา สัมฤทธิ์นรพงศ์ หรือ วิภาวริศ เกตุปมา
02-951-9119