กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--TK park
ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีมุมสงบปลอดจากเหตุความรุนแรงและยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถเข้ามาอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์
อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK park ยะลา) ถือเป็นอุทยานการเรียนรู้ส่วนภูมิภาคต้นแบบแห่งแรก เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) TK park กับเทศบาลนครยะลา จ.ยะลา แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อุทยานการเรียนรู้ยะลา ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรค จนสามารถเปิดให้บริการมาได้ตั้งแต่ปี 2550 ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการให้อุทยานการเรียนรู้ยะลาเป็นเสมือนแม่ข่ายทางปัญญาที่จะช่วยถ่ายทอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้ให้กับพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้บริบทวัฒนธรรม และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างกลมกลืน รวมทั้งเพื่อให้อุทยานการเรียนรู้ยะลา เป็นเครื่องมือสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด
TK park ยะลา แม่ข่าย “Hub” ห้องสมุดมีชีวิต 3 จังหวัดชายแดนใต้
บนเส้นทางกว่า 5 ปีของการดำเนินงานขยายองค์ความรู้ในการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตและการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ของอุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK park ยะลา) ที่นอกจากการแบ่งปันและกระจายโอกาสการเข้าถึงการอ่าน และการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา , ปัตตานี และนราธิวาสแล้ว ภารกิจสำคัญอีกประการคือ การดำเนินยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub เพื่อกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิต และส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
นางสาววัชรี ถ้วนถวิล ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา กล่าวว่า กว่า 5 ปีที่เทศบาลนครยะลา จ.ยะลา และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) TK park ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการขยายองค์ความรู้การจัดทำห้องสมุดมีชีวิตเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ แม้สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินงานของ TK park ยะลานั้น ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้บรรลุภารกิจย โดยเฉพาะในฐานะแม่ข่าย หรือ Hub ที่จะต้องกระจายองค์ความรู้และการเข้าถึงการอ่านการเรียนรู้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ตอนล่างซึ่งเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมประเพณีอันหลากหลาย จำเป็นต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ และการสร้างความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง
“ จากสิ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้สามารถตอบโจทย์เรื่องของการขยายผลการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ นอกจากจะได้รับความสนใจจากบุคลากรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการอ่านและผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดยะลา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ห้องสมุดและครูบรรณารักษ์ จำนวนกว่า 100 คน ทั่วทั้งจังหวัดให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานความเป็นห้องสมุดมีชีวิต , การใช้ฐานข้อมูลของ TK park และระบบการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิต เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว ยังได้รับความสนใจทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานการจัดทำแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดมีชีวิตกันตอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้เราต้องเปิดกว้างมากขึ้น และต้องรู้จักเขา รู้จักเรามากขึ้น ไม่ใช่เน้นเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงด้านเดียว ปัจจุบันเราจะต้องหันมาให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับการพัฒนาทักษะและการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้มากขึ้น ” นางสาววัชรี กล่าว
ขยายผลสู่ห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียนชุมชน
ผลการดำเนินงานด้านการขยายองค์ความรู้เรื่องการจัดทำห้องสมุดมีชีวิตนั้น ผู้จัดการ TK park ยะลา กล่าวว่า กำลังจะมีการจัดตั้งต้นแบบห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียนชุมชนขึ้น 4 มุมเมืองในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งจะเป็นห้องสมุดที่มีรูปแบบตามสภาพแวดล้อมและบริบทของแต่ละชุมชน เช่น ชุมชนตลาดเก่า ซึ่งยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก การจัดห้องสมุดมีชีวิตแห่งนี้จะมีบริบทของชุมชนตลาดเก่า หรือบางชุมชนที่มีลักษณะของการผสมผสานการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม รูปแบบของห้องสมุดมีชีวิตก็จะมีเรื่องราวและการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกัน
สำหรับต้นแบบห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียนชุมชนทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิถี) , โรงเรียนเทศบาล 5 (บ้านตลาดเก่า) ,ชุมชนบ้านร่ม และชุมชนอารีย์บางกอก โดยเฉพาะห้องสมุดมีชีวิตโรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิถี) คาดว่า จะสามารถนำร่องเปิดให้บริการเพื่อเป็นของขวัญให้กับชาวเมืองยะลาได้ภายในเดือนเมษายน 2556
จากต้นแบบ TK park ยะลา ถึงปัตตานี และนราธิวาส
ด้วยรูปแบบของการเป็นพื้นที่ศึกษาตามอัธยาศัยและเปิดกว้างสำหรับทุกคนทุกเชื้อชาติและทุกศาสนา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เล็งเห็นประโยชน์จากการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ในรูปแบบของห้องสมุดมีชีวิต และเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่จะช่วยสร้างความสมานฉันท์ และสร้างสันติของคนในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “อุทยานการเรียนรู้ TK park ขึ้น ที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส” เพราะเชื่อว่าจะนำมาสู่ความเข้าใจกันมากขึ้น และจะช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีแนวโน้มลดลงได้ โดยมี TK park ยะลาเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำระบบการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงสร้างอาคาร คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
นางสาววัชรี กล่าวว่า เพราะอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park จัดเป็นพื้นที่หรือศูนย์กลางที่เปิดกว้างให้ทุกคนและทุกศาสนาสามารถเข้ามาเรียนรู้ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมร่วมกันได้ตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม หรือคนไทยเชื้อสายจีน ดังเช่น TK park ยะลา ที่เปิดให้บริการมากว่า 5 ปี แม้จะตั้งอยู่บนพื้นที่เสี่ยง แต่ก็เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน และเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในเขตเทศบาลนครยะลา เชื่อว่า อุทยานการเรียนรู้ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้จะเป็น “ห้องสมุดช่วยดับไฟใต้” ได้ในอนาคต
ผู้จัดการ TK park ยะลา กล่าวอีกว่า การที่เราทำตรงนี้ เพื่อให้คนได้เห็นว่า ความสำคัญของกระบวนการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้นั้น มีความสำคัญอย่างมาก และยังเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อประเทศ ซึ่งการจะทำให้คนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดมีชีวิตมากขึ้นได้นั้น เรื่องของการสร้างบรรยากาศ ถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นการเปิดโลกกว้างสู่การเรียนรู้แก่เด็กเยาวชนและประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการคัดสรรหนังสือใหม่ๆ เข้ามาหมุนเวียนสม่ำเสมอ และการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ให้ความรู้สึกถึงความแตกต่างจากห้องสมุดแบบเดิมๆ
“ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนไทยมุสลิมที่นี่ ยอมรับว่า มีความชื่นชอบการทำกิจกรรม ชอบอ่านหนังสือ และชอบที่จะพัฒนาตนเอง จากการทำวิจัยเบื้องต้นของทีมงานฯ เกี่ยวกับความต้องการกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่
พบว่า เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ชอบอ่านหนังสือในเขตเทศบาลนครยะลา เพิ่มขึ้นถึง 80% ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วจากสิ่งที่ทุ่มเททำมา และรู้สึกดีใจที่ TK park ยะลา มีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่หันมาสนใจและมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มมากขึ้น ... นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารเทศบาลนครยะลาเล็งเห็นและให้ความสำคัญ จน TK park ยะลา สามารถเปิดให้บริการมาได้ถึงทุกวันนี้”
ผลความสำเร็จของอุทยานการเรียนรู้ TK park ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านแก่เด็กและเยาวชน รวมถึงการขยายโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยออกไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วภูมิภาคในรูปแบบของ ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ เพื่อต้องการให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งตัวอย่างจากความสำเร็จของ “อุทยานการเรียนรู้ยะลา” เทศบาลนครยะลา ห้องสมุดมีชีวิตแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศถือเป็นที่ประจักษ์ และยังเป็นต้นแบบสำหรับการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้แห่งอื่นๆ เพื่อนำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจ และความสมานฉันท์ ในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป