กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--WWF ประเทศไทย
WWF ประเทศไทย ประสานความร่วมมือเครือข่ายหน่วยงานอนุรักษ์ช้างป่าและต่อต้านล่าสัตว์ป่าประจวบคีรีขันธ์ สนธิกำลังเร่งผลักดันช้างป่ากลับเข้าสู่ป่าเพื่อป้องกันช้างทำลายพื้นที่เกษตรและการลักลอบล่าช้างนอกพื้นที่อนุรักษ์ หลังพบฝูงช้างป่าเคลื่อนย้ายออกหากินใกล้พื้นที่เกษตร และแหล่งน้ำตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ผลจากภาวะภัยแล้งต่อเนื่องคุกคามพื้นที่หากินในพื้นที่โครงการพระราชดำริป่ากุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันนี้ เครือข่ายหน่วยงานความร่วมมืออนุรักษ์ช้างป่าและต่อต้านการล่าสัตว์ป่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรีอำเภอกุยบุรีมูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อWWF ประเทศไทย หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึกกรมทหารพรานที่ 14ป้องกันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์กองร้อยตชด.ที่ 145ชุดประสานงานโครงการพระราชดำริป่ากุยบุรีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์บริษัท สยามไวน์เนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด ให้การสนับสนุนกำลังพลจำนวน 60 นายเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมปฏิบัติการเชิงรุกผลักดันช้างป่าและเฝ้าระวังการลักลอบล่าช้างป่าและกระทิง หลังจากสัตว์ป่าเคลื่อนย้ายหนีภัยแล้ง เข้าหากินใกล้พื้นที่เกษตรกรรมทางทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
“เครือข่ายหน่วยงานความร่วมมืออนุรักษ์ช้างป่าและต่อต้านการล่าสัตว์ป่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีมติให้ขอสนับสนุนกำลังพลเสริมจากกรมทหารพรานที่14 เข้าประจำพื้นที่ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี และปฏิบัติการเป็นระยะเวลา6 เดือน เดือนละ 10 วัน โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานเป็นระยะ” พ.ท. สถาพร เตี๊ยะเพชรดี รองผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 14 กล่าว
ขณะที่ นายชลธร ชำนาญคิด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยืนยันถึงความสำคัญของภารกิจครั้งนี้ “ปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อผลักดันให้ช้างป่ากลับเข้าหากินในพื้นที่ป่าธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยมีการเฝ้าระวังการลักลอบล่าช้างป่าและสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ตอนเหนือที่ช้างป่าออกหากิน เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารพืชผลการเกษตรและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่มีความเสี่ยงและล่อแหลมต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า รวมถึงความเสี่ยงต่อรั้วไฟฟ้าประเภทผิดกฎหมาย และเป็นพื้นที่ห่างไกลจากการเฝ้าระวังปกติและมีข้อจำกัดด้านการติดต่อสื่อสาร”
การสนธิกำลังเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการยุติการล่าช้างและสัตว์ป่าสืบสานแนวพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่ 1) น้อมนำและขยายผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริเพื่ออนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2) สนับสนุนการดำเนินงานเชิงรุกตามนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่าการป้องกันการล่าช้างป่าและสัตว์ป่า และ 3) เสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อการอนุรักษ์ช้าง การป้องกันการล่าช้างป่าและสัตว์ป่า โดยการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือดำเนินการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น
“แม้เราจะยังบอกไม่ได้ว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ แต่การอนุรักษ์สัตว์ป่าในอนาคตจำเป็นต้องมีการปฏิบัติงานเชิงรุกมากขึ้นและมีการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในภาพรวมที่ใหญ่กว่าเดิม เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติซึ่งจะส่งผลอย่างกว้างขวางทั้งต่อชุมชนและสัตว์ป่า”
นายวายุพงศ์ จิตร์วิจักษณ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ช้างป่าและต่อต้านล่าสัตว์ป่ากุยบุรี WWF ประเทศไทย กล่าว
“การร่วมมืออย่างบูรณาการของเครือข่ายอนุรักษ์ช้างเป็นต้นแบบความร่วมมือพหุภาคีที่ยืนยันความสำเร็จและทุ่มเทของภาครัฐและชุมชน ที่มีต่อการอนุรักษ์ช้างป่าภายใต้กรอบความคิด “ร่วมพิทักษ์ ป้องกัน ปราบปราม ประชาสัมพันธ์ ปลุกจิตสำนึก ฟื้นฟู วิจัย และติดตามผล” ซึ่งครอบคลุมทั้งการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจสืบสวน รับแจ้งเบาะแส ลาดตระเวนร่วม ส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ รณรงค์สร้างจิตสำนึกรักและหวงแหนสัตว์ป่า มีส่วนร่วมกับชุมชนในการปกป้องชีวิตสัตว์ป่า รวมทั้งการฟื้นฟูและสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำและอาหารให้สัตว์ป่า” นายวายุพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ปฏิบัติการผลักดันช้างป่ากลับเข้าสู่ป่าธรรมชาติและเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบล่าช้างป่า นำโดยนายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรีและประธานมูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยงาน จะนำกำลังพล 60 นาย เข้าปฏิบัติการตลอดคืนของวันที่ 20 กันยายน 2555 ต่อเนื่องถึงวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2555จนกว่าฝูงช้างป่าจะกลับเข้าสู่ทางด่านหลักเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของช้างป่าที่ถูกผลักดัน และกำลังพลของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2555 กำลังพลจากกรมทหารพรานที่ 14และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จะร่วมตรึงพื้นที่เพื่อความมั่นใจว่าช้างป่าฝูงดังกล่าว
จะไม่ย้อนกลับมาอีกและยังเป็นการป้องกันการลักลอบล่าช้างป่า กระทิง และเฝ้าระวังช้างป่าออกหากินในพื้นที่เกษตรกรรมตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมช้างป่าเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อช้างป่าและเจ้าหน้าที่ชุดปฎิบัติการ รวมถึงรูปแบบการจัดกำลังเข้าผลักดันฝูงช้างป่าทั้งกำลังส่วนหน้า กำลังสนับสนุน กำลังลาดตระเวนเข้าพื้นที่ป่าชั้นใน และกำลังเฝ้าระวังและป้องกันการล่าช้างกระทิง และสัตว์ป่าอื่นๆ
ต้องการภาพและข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
วายุพงศ์ จิตร์วิจักษณ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ช้างป่าและต่อต้านล่าสัตว์ป่ากุยบุรี WWF ประเทศไทย โทร 081-882-9789 อีเมล wjitvijak@wwfgreatermekong.org
เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ ผู้จัดารฝ่ายสื่อสารองค์กร WWF ประเทศไทย โทร 0819282426 อีเมล uchamnanua@wwfgreatermekong.org
ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวงานอนุรักษ์ช้างป่าและต่อต้านการล่าสัตว์ป่าได้ที่ www.wwfthai.org, facebook/wwfthailand, twitter @wwfthailand