สนพ.ดันโครงการเตาแก๊สเบอร์ 5 ตั้งเป้าประหยัด LPG ปีละกว่า 400 ล้านบาท

ข่าวบันเทิง Friday August 27, 2004 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--สนพ.
สนพ.หนุน มจธ. วิจัยศักยภาพเตาแก๊สหุงต้มในประเทศไทยกว่า 2 ล้านบาท เพื่อกำหนดมาตรฐานเตาแก๊สเบอร์ 5 รองรับการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ชี้หากคนไทยใช้เตาแก๊สมีประสิทธิภาพจะประหยัด LPG ปีละกว่า 28 ล้านกิโลกรัม หรือเป็นเงินกว่า 400 ล้านบาท
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG เป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น ทั้งในครัวเรือน รถยนต์ อุตสาหกรรม ซึ่งปริมาณการใช้ของปี 2546 เพิ่มขึ้นกว่า 3% เมื่อเทียบกับปี 2545 โดยการใช้อยู่ที่ระดับ 82,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วน 84% และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี 16% ทั้งนี้ มีสัดส่วนการใช้ในภาคครัวเรือนสูงสุด 70% ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิง หรือ 1,502.36 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 34 ล้านกิโลกรัม
ดังนั้น การปรับปรุงสมรรถนะเตาแก๊สหุงต้มให้มีประสิทธิภาพทางความร้อนสูง จะช่วยให้สามารถประหยัด LPG ได้ในระดับหนึ่ง สนพ.จึงได้มอบเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 2,626,250 บาท ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดำเนิน “โครงการทดสอบสมรรถนะเตาหุงต้มแอลพีจี” เพื่อทราบถึงประสิทธิภาพทางความร้อน มลพิษที่เกิดขึ้น ระยะเวลาการใช้งานที่มีต่อ ประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเตาที่มีจำหน่ายและใช้ในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน และมีมลภาวะต่ำ รวมไปถึงเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการปรับปรุงสมรรถนะ หรือเป็นต้นแบบของโครงการสลากประสิทธิภาพพลังงาน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ เครื่องใช้อื่นๆ ในครัวเรือนและสำนักงานต่อไป
นายสำเริง จักรใจ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้อำนวยการโครงการทดสอบสมรรถนะเตาหุงต้มแอลพีจี เปิดเผยว่า จากผลการทดสอบประสิทธิภาพทางความร้อนของเตายี่ห้อต่างๆ ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป จำนวน 399 หัวเตา จากบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่าย 13 บริษัท โดยใช้มาตรฐานจากยุโรป คือ EN 203-1:1992,EN203-2:1995
ที่กำหนดให้ค่าประสิทธิภาพทางความร้อนของเตาอยู่ที่ 50% และปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ต่ำกว่า 1000 ppm พบว่ามีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพทางความร้อนประมาณ 49% หรือ มีค่าประสิทธิภาพทางความร้อนอยู่ระหว่าง 30-60% และปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์
อยู่ระหว่าง 55-4926 ppm โดยหัวเตาของแต่ละบริษัทมีสมรรถนะที่แตกต่างกันมาก
เนื่องจากการผลิตเตามีรูปแบบหลากหลาย ใช้วัสดุของหัวเผาต่างกัน ระบบควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้ายังไม่ดีพอ เป็นต้น “สำหรับการกำหนดเตาแก๊สหุงต้มให้เป็นมาตรฐานฉลากประสิทธิภาพพลังงานควรประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น กำหนดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ต่ำกว่า 1000 ppm ประสิทธิภาพทางความร้อนเกินกว่า 50% มีระดับคุณภาพเป็นเบอร์ 5 และประสิทธิภาพทางความร้อนตั้งแต่ 45% ถึง 50% มีระดับคุณภาพเป็นเบอร์ 4 เป็นต้น ทั้งนี้ หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางความร้อนของเตาหุงต้มเป็น 50% จะประหยัด LPG ได้กว่า 28 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือเป็นมูลค่าที่สามารถประหยัดได้กว่า 400 ล้านบาทต่อปี และจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงกว่า 800,000 ตันต่อปี” นายสำเริง กล่าว
ซึ่ง ภาครัฐควรเข้ามาให้การสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตในด้านเทคนิค โดยส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำ หรือให้ความรู้ รวมไปถึงสนับสนุนเงินลงทุนหากต้องปรับปรุงกระบวนการ เช่น หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษี เพื่อจะได้มีเตาแก๊สหุงต้มที่มีประสิทธิภาพ และประหยัดเชื้อเพลิง ปัจจุบันการใช้เตาหุงต้ม LPG ในประเทศไทย มี 3 แบบ คือ แบบที่ 1 Radial flow slotted-burner ซึ่งนิยมใช้กันมากที่สุด แบบที่ 2 Swirl/non-swirl flow central flame burner เป็นแบบที่เริ่มวางจำหน่ายในตลาด แต่ยังใช้ไม่แพร่หลายนัก และแบบที่ 3 Radiant burner มีการใช้ค่อนข้างน้อย
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
โทรศัพท์ 0 2612 1555 ต่อ 201-5
โทรสาร 0 2612 1368
121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.eppo.go.th--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ