กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--จริงใจครีเอชั่น
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานแถลงข่าวเปิด “ พื้นที่นำร่องการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน” การแถลงข่าวครั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีเป้าหมายในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมฯ กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แนวชายฝั่งช่วยกันอนุรักษ์ และ ฟื้นฟูป่าชายเลนร่วมกัน ผ่านกระบวนการดำเนินงานที่เป็นระบบ เพราะเดิมในอดีตป่าชายเลนในประเทศไทยมีเนื้อที่กว่า ๒.๒ ล้านไร่ แต่หลังจากนั้นได้ถูกทำลายลงด้วยกิจกรรมหลายประเภทของมนุษย์ และจากภัยธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงหลังปี ๒๕๒๑ เป็นต้นมา ป่าชายเลนกลับตกอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากพื้นที่ป่าชายเลนจำนวนมากถูกทำลายจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม และอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกบุกรุกแผ้วถางโดยนายทุน เพื่อทำนากุ้ง หลังจากที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับการก่อตั้งขึ้นมาก็ได้มีนโยบายการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน เช่น การปลูกป่าทดแทนและการลดการบุกรุกทำลายป่ามีผลทำให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดจากการสำรวจในปี ๒๕๕๒ พบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ ๑,๕๒๕,๐๖๐.๕๖ ไร่
ดังนั้นเพื่อเป็นการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งด้านการบริหารจัดการ ฟื้นฟู อนุรักษ์ และ ป้องกันทรัพยากรป่าชายเลนอย่างถูกต้อง ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน
นำโดย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีแนวคิดเรื่องจัดทำข้อมูลบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนอย่างเป็นระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างแนวร่วมในการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และประชาชนที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่ง ให้ร่วมกันบูรณาการความร่วมมือ ในการทำงานด้านการอนุรักษ์และป้องกันรักษาทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “ ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีจากเจ้าหน้าที่ของเราเอง และนำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบจากนักวิชาการจากสถานศึกษาชื่อดัง ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขเรื่องของป่าชายเลนถูกทำลาย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มีประโยชน์ แต่น่าเสียดายที่ถูกเก็บไว้ในคลังวิชาการของกรมฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากในการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการทำงานร่วมกับภาคประชาชนภายใต้แนวทางแก้ไขที่ได้จากข้อมูลที่แท้จริง ที่ผ่านนโยบายและวิธีการดำเนินงานของเราค่อนข้างค้านกับนโยบายการทำงานหลักพอสมควร เพราะในขณะที่นโยบายการทำงานเรามุ่งเน้นให้ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู อนุรักษ์ และ ป้องกันป่าชายเลน ร่วมกับเรา แต่ทางหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลของกรมฯ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นที่ป่าชายเลนที่กำหนดไว้ตามกฎหมายและ มติ ครม. ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าชายเลน ข้อมูลทางสถิติ ตลอดจนข้อมูลทางกายภาพต่างๆ กลับไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้ ประชาชนได้ทราบว่า ณ ขณะนี้ ตำบล อำเภอ หรือ จังหวัด พื้นที่ไหนบ้างที่ประสบปัญหาในเรื่องของป่าชายเลนถูกทำลาย และขนาดพื้นที่ที่มีปัญหามีเนื้อที่เท่าไหร่ สถานภาพพื้นที่เป็นอย่างไร ตรงไหนบ้างที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ตรงไหนบ้างที่เราจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาหาทางออกเพื่อลดความขัดแย้ง และเมื่อไหร่ก็ตามที่หน่วยงานหรือ องค์กรใดต้องการข้อมูลชี้ชัดเรื่องป่าชายเลน การเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องในเรื่องของขนาดพื้นที่ประสบปัญหา หรือ พื้นที่คงสภาพความอุดมสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่และชาวบ้านมักจะตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้รายละเอียดที่แท้จริง
ผมมีแนวคิดในการมองปัญหาที่ต้นเหตุ โดยวางแนวทางระบบการป้องกันและฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบ สร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ผมสั่งการให้ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน ทุกหน่วยรับนโยบายและลงมือปฏิบัติ ลงสำรวจจัดทำข้อมูลพื้นที่ป่าชายเลนร่วมกับชุมชนโดยในเบื้องต้นให้สถานีฯ ละหนึ่งตำบลในการลงพื้นที่สำรวจป่าชายเลนว่ามีแต่ละตำบลนั้นมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าเหลืออยู่เท่าไหร่ มีความสมบูรณ์ระดับใด ที่ถูกทำลายไปเท่าไหร่ พื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรบ้าง มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่อย่างไร จากนั้นนำมาสรุปเป็นแผนที่การบริหารจัดการป่าชายเลน จากหนึ่งตำบล เพิ่มเป็นสองตำบล และ นำไปสู่การกระจายข้อมูลไปในระดับอำเภอ และระดับ จังหวัด สู่ระดับประเทศในที่สุด โดยข้อมูลและแผนที่ ที่ได้เราจะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่ร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องป่าชายเลนร่วมกับกรมฯ ข้อมูลที่ทุกหน่วยงานได้จะเป็นข้อมูลชุดเดียวกันและอัพเดทข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด ซึ่งการทำงานอย่างเป็นระบบจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาอย่างมีระบบเช่นกัน
สำหรับพื้นที่ ที่ทางกรมฯ เปิดตัวให้เป็นพื้นที่นำร่องการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ ตำบล หงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ที่ทางกรมฯเลือกที่นี่เป็นพื้นที่นำร่องนั้นเพราะ นั้นเพราะป่าชายเลน ตำบล หงาว มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และมีความสำคัญในระดับนานาชาติ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแหล่งหนึ่งของโลก โดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี ๒๕๔๐ และที่นี่มีกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนที่เข้มแข็ง ประชาชน และผู้นำท้องถิ่น และโรงเรียน มีความตระหนักในคุณค่าความสำคัญของป่าชายเลน และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟู มีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าชายเลนที่ชัดเจน มีการฟื้นฟูป่าชายเลนโดยภาคเอกชน และประชาชน กว่า ๕,๐๐๐ ไร่ ไม่มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าชายเลนมาเป็นเวลานานแล้ว ที่สำคัญที่สุดชาวบ้าน ตำบลหงาว ผู้นำท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ ๑๐ (เมือง ระนอง) มีความพร้อมในการทำงานร่วมกัน และสำหรับ ข้อมูลพื้นที่ป่าชายเลนที่จัดทำขึ้น มีประโยชน์ ประชาชนในท้องถิ่นได้รับรู้สถานภาพปัจจุบันของพื้นที่ป่าชายเลนในท้องถิ่นของตนเอง รวมไปถึง ช่วยเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ป่าชายเลน สามารถใช้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนของภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างสูงสุด ช่วยแก้ปัญหาและลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน และชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ในการอนุรักษ์ พื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืนของทะเลไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดย ทช.มีอำนาจหน้าที่หลักๆดังนี้คือ กำหนดมาตรการสงวน อนุรักษ์ฟื้นฟู และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการ กำกับ ดูแล และบริหารจัดการที่ดินและพื้นที่ชายฝั่งทะเล ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสู่สาธารณชนทุกระดับชั้น ปฏิบัติงานร่วมหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย พร้อมมอบนโยบายให้กับสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนทั่วประเทศไปดำเนินงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อไป