วช. จัดสัมมนา เรื่อง “การเร่งรัดงานวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อย และเครื่องจักรกลเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”

ข่าวเทคโนโลยี Monday August 30, 2004 10:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการวิจัย เรื่อง “การเร่งรัดงานวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยและเครื่องจักรกลเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” ในวันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2547 ณ ห้องบอลรูม เอและบี โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดยมีนางมธุรส สุมิพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เวลา 09.00 น.
ปัจจุบันเกษตรกรยังขาดอ้อยพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง พันธุ์อ้อยที่เกษตรกรใช้โดยทั่วไปไม่ทิ้งใบหรือใบติดแน่นกับลำต้น การเก็บเกี่ยวต้องใช้แรงงานคนแทนเครื่องจักรกลซึ่งทำได้ยาก จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว และมีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในปริมาณมาก ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่อ
สิ่งแวดล้อม ดังนั้น การปรับปรุงพันธุ์อ้อยจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ การนำเครื่องสับคลุกใบอ้อย การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสด และการพัฒนาเครื่องจักรกลในการกำจัดวัชพืชก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ หากมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยโดยการนำโมเดล MIS และ GIS มาใช้โดยการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนและรายการโทรทัศน์ ก็จะช่วยให้เกษตรกรได้รับรู้ข่าวสารข้อมูลทางวิชาการ และติดตามวิทยาการทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านอ้อยได้อย่างทั่วถึง
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.ดร. รัตนา ตั้งวงศ์กิจ คณะเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การเร่งรัดงานวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยและเครื่องจักรกลเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ที่ให้ผลผลิตและมีคุณภาพสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น มีลักษณะทางการเกษตรที่สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้เครื่องจักรขนาดเล็กและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้ผลงานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ไปสู่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องได้อย่างทั่วถึง สำนักงานฯ จึงได้จัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ผลการวิจัยดังกล่าวได้ถูกนำไปขยายผลและใช้ประโยชน์ต่อไป--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ