โรคไข้เลือดออก โรคภัยที่มากับช่วงฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Monday August 30, 2004 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
กองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารเรือ ได้จัดทำข้อมูลเผยแพร่โรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นโรคที่มากับช่วงฤดูฝน พร้อมให้ คำแนะนำการดูแลสุขภาพ ดังนี้
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส และกำลังเป็นปัญหาสำคัญอยู่ในขณะนี้ เพราะยังมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้อยู่เป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับความรู้หรือการดูแลรักษาที่ถูกต้องทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรรู้จักโรคไข้เลือดออกและพาหะนำโรคนี้ เพื่อเตรียมที่จะป้องกันไม่ให้โรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดมาสู่บุคคลใกช้ชิดได้
สาเหตุและการแพร่ระบาด โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคนี้มาสู่คน เชื้อไวรัสที่ก่อโรคคือ เชื้อไวรัสเด็งกี่ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่มักจะระบาดมากในช่วงหน้าฝน เพราะยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคมีจำนวนชุกชุม ยุงลายตัวเมียจะวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำขัง เมื่อยุงไปกัดคนป่วยที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าไปสู่ต่อมน้ำลายของยุง และพร้อมที่จะแพร่เชื้อสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เชื้อไวรัสไข้เลือดออกนี้จะอยู่ในตัวยุงลายได้ตลอดชีวิตของยุงประมาณ ๑ เดือน จึงทำให้ยุงเหล่านี้จะไปกัด
ลักษณะอาการ เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกไปกัดคน เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ ๕ - ๘ วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อจะรู้สึกปวดหัว มีไข้สูง ประมาณ ๒ - ๗ วัน ปวดเมื่อยเนื้อตัว มีจุดแดง เนื่องจากอาการทั่ว ๆ ไป คล้ายกับเป็นหวัด เมื่อเด็กมีอาการเช่นนี้ พ่อแม่จึงมักคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาจนปล่อยให้อาการรุนแรง แต่สิ่งที่แตกต่างจากไข้หวัดก็คือ จะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกเหมือนหวัด บางคนที่อาการรุนแรงมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน มีอาการตับโต เมื่อกดจะเจ็บ จนถึงมีอาการช็อกเนื่องจากมีการไหลเวียนของเลือดล้มเหลว
อาการช็อกมักเกิดขึ้นพร้อมกับไข้จะลดลงอย่างรวดเร็วผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตเปลี่ยน ตัวเย็นขอบปากเขียว และอาจเสียชีวิตได้ภายใน ๑๒ - ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้น ไม่ควรปล่อยให้โรคไข้เลือดออกรุนแรงจนถึงขั้นช็อก
การรักษา หลักการรักษาไข้เลือดออกคือ การรักษาให้ทุเลาอาการและการป้องกันการช็อก เมื่อเด็กมีไข้สูงจะต้องป้องกันไม่ให้มีอาการชักจากไข้ ด้วยการเช็ดตัวและให้ยาลดไข้ ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพรินเพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายเคืองกระเพาะอาหาร และทำให้เลือดออกง่าย ควรให้ยาลดไข้จำพวก พาราเซตามอลจะปลอดภัยกว่า รวมทั้งการให้น้ำเพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายเสียไปแก่ผู้ป่วย เช่น น้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โอ.อาร์.เอส โดยดื่มครั้งละน้อยแต่บ่อย ๆ และควรกิจอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก หรือ ข้าวต้ม เป็นต้น
การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้ โดยกำจัดลูกน้ำในภาชนะต่าง ๆ ที่มีน้ำขัง ด้วยการปิดฝาภาชนะ เก็บน้ำให้มิดชิด เช่น โอ่ง ถังเก็บน้ำ หมั่นเปลี่ยน หรือทิ้งน้ำในภาชนะบรรจุน้ำและภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ เช่น แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ ถ้วย หรือขาตู้กับข้าว เก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด กระป๋อง ฯลฯ เพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้ ตัดต้นไม้ที่รกครึ้ม เพื่อให้มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้ดี และการเลี้ยงปลา กินลูกน้ำไว้ในโอ่ง หรือบ่อที่ใส่น้ำใช้ นอกจากทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายแล้ว จะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงลายกัดด้วยการดูแลหน้าต่าง ประตู ช่องลม ไม่ให้ยุงเข้าจัดข้าวของในบ้านไม่ให้กองสุมกัน รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดยุงและทายากันยุงให้ถูกต้อง--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ