กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ตอนที่ ๑ โครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ ของ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ในอดีต การทำสงครามจะทำกันเฉพาะบนบกกับในทะเลบริเวณเหนือผิวน้ำเท่านั้น ส่วนการรบทางอากาศกับใต้น้ำนั้นยังไม่มีเนื่องจากวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีสมัยนั้น ยังไม่มีความเจริญก้าวหน้า ดังเช่นปัจจุบันที่ได้มีการทำสงครามเต็มรูปแบบทั้ง ๔ มิติ ดังนั้นองค์ประกอบของกำลังรบในกองทัพปัจจุบัน จึงต้องมีทั้งกำลังทางบก กำลังทางเรือ และกำลังทางอากาศ โดยเฉพาะกำลังทางเรือนั้นต้องมีทั้งในส่วนของเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ ซึ่งกองทัพในนานาอารยประเทศต่างก็ได้มีการพัฒนากำลังรบดังกล่าว ให้มีความเข้มแข็งเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจในการป้องกันอธิปไตยของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ กองทัพเรือไทย ได้มีการพัฒนากำลังทางเรือมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งทำให้เห็นว่าเรือรบเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญในการป้องกันภัย จากการรุกล้ำอธิปไตยของชาติทางทะเล สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีเรือดำน้ำในประเทศไทยนั้น เริ่มเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในปี พ.ศ.๒๔๕๓ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพระเขตอุดมศักดิ์ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น นายพลเรือตรี พระยาพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ทรงร่วมกับ นายพลเรือตรีพระยาราชวังสรรค์ (ฉ่าง แสง - ชูโต) และ นายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้ทรงจัดทำโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ ถวายแด่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ในขณะนั้น โดยโครงการดังกล่าว ได้กำหนดให้มี เรือ ส. ซึ่งย่อมาจาก เรือซับมารีน (Submarine) หรือเรือดำน้ำ จำนวน ๖ ลำ ทั้งนี้ได้อธิบายไว้ว่า เรือ ส.คือ เรือดำน้ำ สำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึก และสรุปว่า แต่ที่พูดนี้โดยเห็นว่า ต่อไปภายหน้า การศึกสงครามจะต้องใช้เพื่อความมั่นคง แต่ไม่ใช่ในตอนนี้ ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงที่มหาอำนาจทางยุโรปกำลังพัฒนาและทดลองใช้เรือดำน้ำอยู่--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--