กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สสวท.
หลายทีม หลากไอเดีย ใครยิงแม่นขอท้าประลอง ใน “มินิวิทยสัประยุทธ์” สสวท.
จากไอเดีย “ลูกตุ้ม” และ “กรงดักหนู” สู่รางวัลชนะเลิศความคิดสร้างสรรค์
ไอเดีย “ตีนผี” เครื่องมือยิงสัตว์สมัยโบราณ สู่รางวัลชนะเลิศประเภทผลสำเร็จของงาน
สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้เนื้อหา วิธีคิด ทักษะกระบวนการ และการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนไปแล้วไม่น้อยสำหรับ “รายการวิทยสัประยุทธ์” ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่ออกอากาศทุกเย็นวันเสาร์ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 หลังเคารพธงชาติ
ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สสวท. จึงได้ต่อยอดนำมาจัดการแข่งขัน “มินิวิทยสัประยุทธ์” ขึ้นมา โดยได้เชิญนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทีมละสามคน ซึ่งได้รับโจทย์ “ยิงปิงปองประลองปัญญา ท้าฝัน”ไปท้าประลองกัน
“ปิงปอง 10 ลูก กับระยะห่างจากเป้าหมาย 8 เมตร จะยิงตรง ยิงโค้ง หรือยิงกระดอน สุดแท้แต่ความสามารถ และการสร้างสรรค์ทางปัญญา”
การแข่งขันทั้งหมดมี 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทนำเสนอผลงาน ประเภทความคิดสร้างสรรค์ และประเภทความสำเร็จของงาน ซึ่งผู้แข่งขันต้องออกแบบสิ่งประดิษฐ์เพื่อยิงลูกปิงปองไปยังเป้าหมายที่กำหนด โดยมีระบบหน่วงเวลาการยิงตั้งแต่ 0 - 60 วินาที ด้วยการเริ่มต้นกลไกเพียงครั้งเดียว จะสุ่มจับช่วงเวลาของการหน่วงเวลาในการยิงแต่ละครั้งก่อนการแข่งขัน ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สำเร็จรูปที่ใช้ในการยิงทุกชนิด สิ่งประดิษฐ์ที่ประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมทำการแข่งขันจะต้องไม่มีส่วนประกอบที่เป็นของเหลว ไฟ และสารเคมีที่เกิดแก๊ส อุปกรณ์ที่ใช้รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์เมื่อประกอบพร้อมยิง จะต้องมีขนาดไม่เกิน 60 cm x 60 cm x 60 cm
บรรยากาศเริ่มคึกคักตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน น้องๆ จากโรงเรียนต่างๆ ได้นำสิ่งประดิษฐ์ที่จัดเตรียมมาตามโจทย์ที่ได้รับจาก สสวท. มาตรวจสอบความพร้อมก่อนการใช้งานจริงในสนามประลอง ไปดูกันว่าน้องๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันมินิวิทยสัประยุทธ์มีแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ของพวกเขาอย่างไร
นางสาววรัญญา ยอนิมา นางสาววิลาวัณย์ สิงห์ขร และนางสาวมณีรัตน์ เกลี้ยงเกลา ชั้น ม. 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สุวินทวงศ์ บอกกับเราว่า ได้ชมรายการวิทยสัประยุทธ์แล้วสนุก รูปแบบรายการมีแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ โจทย์มีความท้าทาย จึงคิดว่าน่าจะสมัครมาร่วมการแข่งขันเวทีนี้ดูบ้าง จะได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การเตรียมตัวค่อนข้างกระชั้นชิดมาก ตอนแรกคิดว่าในการประดิษฐ์อุปกรณ์จะใช้ขดลวดสปริง ปืนอัดลม แต่ทดลองดูแล้วพบว่ามันอันตราย จึงได้นำแนวคิดจากเกม Angry Bird มาประยุกต์ใช้เหล็กเป็นตัวหน่วงเวลา ใช้ทรายเนตัวถ่วงน้ำหนัก หลักการคล้าย ๆ นาฬิกาทราย ตอนแกรก็มั่นใจแต่เห็นผลงานของทีมอื่นๆ แล้วความมั่นใจก็ลดลง แต่อย่างไรก็ตามสู้! ! เต็มความสามารถ
นายธีรภัทร สุจิตโต นายรัชพล บุญแสน นายนพอนนต์ คำภิระแปง ชั้น ม. 5 โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เล่าว่า เครื่องยิงของเราเป็นแบบกระบอกปืนโดยใช้หลักการเดียวกับสมัยโบราณคือใช้หนังยางมารั้งเอาไว้ หรือพูดง่ายๆ คือหลักการเดียวกับการยิงหนังสติ๊ก โดยมีกลไกการทำงานโดยใช้รอกเพื่อใช้ในการหน่วงเวลา สิ่งประดิษฐ์ที่เราทำขึ้นมาโดยรวมก็ถือว่าดี แต่ระบบหน่วงเวลายังไม่ค่อยสมบูรณ์ ยังคลาดเคลื่อนไปบ้าง การร่วมแข่งขันครั้งนี้ทำให้เราได้เพิ่มศักยภาพและแนวคิดในการทำงาน รวมทั้งทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
นางสาวอนุสรา ศีละวงษ์เสรี นางสาวณิชากร ดีประดับดวง นางสาวศิริลักษณ์ ฉลองภูมิ ชั้น ม. 4 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เล่าว่า แรงบันดาลใจมาจากโรงจอดรถที่มีหลายชั้นไล่ระดับจากสูงไปต่ำ จึงนำรูปแบบนี้มาใช้ โดยให้การหน่วงเวลาเกิดจากลูกเหล็กทรงกลมอันเล็กไหลลงไปเรื่อย ๆ ในส่วนของพื้นถนนปรับใช้โดยนำ สก็อตเทปแบบขรุขระมาปะเพื่อลดแรงเสียดทานให้ลูกเหล็กไหลช้าลง เมื่อลูกเหล็กไหลถึงลูกเปตอง ลูกเปตองก็จะเป็นตัวเปิดจุกก๊อก แล้วลมก็จะออกจากกระป๋องน้ำ ทำให้เกิดแรงดันอากาศช่วยส่งลูกปิงปองออกมา ผลจากการทดลองพบอุปสรรคบ้าง ปรับทางลงได้ยาก ลูกเปตองไม่ค่อยไหลลงสะดวกเท่าไหร่ ก็ปรับแก้ไขกันไป การทำสิ่งประดิษฐ์นี้ทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ เราสามารถนำไปใช้ในการเรียนและการทำโครงงานที่โรงเรียนด้วยค่ะ
ผลการแข่งขันปรากฏว่า รางวัลประเภทการนำเสนอผลงาน ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ทีมนนทรี 1 โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ทีม Wing of gravity โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จ. ชลบุรี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีมวิสุทธรังษี 3 โรงเรียนวิสุทธรังษี จ. กาญจนบุรี
รางวัลประเภทความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ทีม ปว. ขอสู้ โรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมป็อกกะต๊อก โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพ ฯ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม The fourteen years old โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพ ฯ
รางวัลประเภทผลสำเร็จของงาน ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ทีม The fourteen years old โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพ ฯ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 3 ทีม คือ ทีม PT — ion โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ. นครปฐม ทีมอู้หูยยย... โรงเรียนศรัทธาสมุทร จ.สมุทรสงคราม ทีม Springgirl โรงเรียนดาราสมุทร จ.ชลบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4 ทีม Wing of gravity โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จ.ชลบุรี
ทีม The fourteen years old เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทผลสำเร็จของงาน ประกอบด้วย ผู้เข้าแข่งขัน คือนางสาวอภิญญา ฉายแสงรัตน์ นางสาวอรจิรา เอื้ออวยชัย นางสาวเบญจวรรณ หาญพิสิฐพงษ์ ชั้น ม.4โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย และมีอาจารย์ปกรณ์ ปานรอด เป็นที่ปรึกษา เล่าว่า จุดเด่นของผลงานเราคือนำของเหลือใช้มาทำ ตอนแรกจะทำคานกระดก แต่แรงส่งไม่พอ จึงใช้รูปแบบของเครื่องมือยิงสัตว์สมัยโบราณที่ชื่อ “ตีนผี” มาลองทำดู สิ่งประดิษฐ์ของเราเคลื่อนที่วิถีตรง เล็งฐานให้ตรงกับเป้า ปัญหาที่พบคือวัสดุอุปกรณ์เสียหายกลางคันในขณะที่แข่งขัน คือ เชือกขาด ไม่ได้เตรียมมาสำรองไว้ จึงใช้ไขควงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็สามารถใช้งานต่อได้
ทีม ปว. ขอสู้ เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย ผู้เข้าแข่งขัน คือ นายสราวุธ ฉันทะเกตุ นายอนุชา ปรีชานุกูล รายภัทรพงษ์ วงษ์อนันต์ โดยมีอาจารย์สิปปนนท์ วงชัยเพ็ง และอาจารย์อนุพงษ์ ศรีโสภา เป็นที่ปรึกษา เล่าถึงแนวความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาว่า ในส่วนของเครื่องหน่วงเวลา ใช้รูปแบบของลูกตุ้มนาฬิกา (ฮาร์มอนิค) โดยกำหนดเวลาจากรอบการหมุนของเชือก ซึ่งเมื่อเชือกตึงจะดึงสลักออก ซึ่งมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของการจับหนู นั่นคือ “กรงดักหนู” นั่นเอง เมื่อปลดสลักออกหนังสติ๊กก็จะดีดทำให้เครื่องมือที่ยิงลูกปิงปองมีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว
“การแบ่งงานของทีมเราคือ ทั้งพวกเราสามคนช่วยกันออกแบบอุปกรณ์ คุณพ่อของสราวุธช่วยเหลือเรื่องการทำอุปกรณ์โลหะ จุดเด่นของสิ่งประดิษฐ์นี้คือใช้วัสดุง่ายๆ ใกล้ตัว ไม่ซับซ้อน มีการใช้ลูกตุ้มนาฬิกามาเป็นตัวหน่วง มีความมั่นคง แข็งแรง ไม่ซ้ำใคร เคลื่อนที่ได้ง่ายครับ”
นับว่าการประลองครั้งนี้ทั้งผู้แข่งขัน และผู้ชม ก็ได้สนุก ลุ้น ร่วมตื่นเต้นไปพร้อมกัน นอกจากรางวัลแล้วประโยชน์ที่น้องๆ ทุกทีมได้รับกลับไปก็คือเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ แนวความคิดด้านการออกแบบและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการทำงานเป็นทีมซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการศึกษาเรียนรู้ในระดับโรงเรียนและระดับที่สูงขึ้นไป ตามแนวทางที่ สสวท. ได้ส่งเสริมมาโดยตลอดนั่นเอง