พร้อมรับมือกับความร้อน — ฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ผ่านบททดสอบฉลุย

ข่าวยานยนต์ Tuesday September 25, 2012 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ - ระบบควบคุมอุณหภูมิแบบอัติโนมัติของฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ช่วยเพิ่มความเย็นให้แก่ผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความสบายกว่าเคย - พัดลมทำงานเงียบขึ้น และสามารถกระจายลมให้ทั่วห้องโดยสารได้เร็วกว่าเดิม - โฟกัส ใหม่ ผ่านการทดสอบมาแล้วทั่วโลกเพื่อความมั่นใจว่าระบบควบคุมสภาพอากาศจะทำความเย็นได้เร็วแม้ในอากาศร้อน และอุ่นห้องโดยสารได้ทันใจในอากาศหนาว การสร้างสรรค์รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่นท่ามกลางสภาพอากาศสุดโหดนับว่าเป็นความท้าทายประการหนึ่ง แต่การทำให้ห้องโดยสารมอบความสบายให้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารตลอดการเดินทางไม่ว่าจะในสภาพอากาศร้อนหรือเย็นจัด นับว่าเป็นความท้าทายที่เข้มข้นไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้ ทีมงานด้านระบบควบคุมอุณหภูมิของฟอร์ดจึงเดินทางไปทั่วโลกเพื่อทดสอบการทำงานของระบบควบคุมอุณหภูมิแบบอัติโนมัติ (EATC - Electronic Automatic Temperature Control) ซึ่งติดตั้งในฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ว่าจะรับมือกับสภาพอากาศสุดโหดได้ดีเพียงใด จากฟินแลนด์ถึงสเปน จากอิตาลีถึงกรุงเทพฯ ระบบจะต้องทำความเย็นภายในห้องโดยสารได้อย่างรวดเร็วและมอบความสบายให้แก่ผู้ขับขี่เมื่อต้องเดินทางกลางแสงแดดที่แผดเผา และจะต้องอุ่นห้องโดยสารได้เร็วไม่แพ้กันเมื่ออุณหภูมิภายนอกลดลง ระบบควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติของโฟกัส ใหม่ นับว่ามีความสามารถในการเพิ่มความเย็นให้แก่ผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความสบายยิ่งกว่าเคย ด้วยพัดลมที่ทำงานเงียบขึ้น และสามารถกระจายลมให้ทั่วห้องโดยสารได้เร็วกว่าเดิม โดยหน้าที่หลักของทีมงานคือการปรับจูนระบบให้มอบความสะดวก ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าทั่วโลก หนึ่งในสถานที่ทดสอบประจำของทีมฟอร์ดอยู่ที่เมืองอันเตเควราทางตอนใต้ของประเทศสเปน เมืองเก่าแก่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่าทางแยกแห่งแคว้นอันดาลูเซียแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ความสูงประมาณ 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หากไม่ใช่ช่วงฤดูร้อน ดินแดนที่อุดมไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์แห่งนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมาก โดยจุดมุ่งหมายหลักของการเดินทางมายังดินแดนแห่งนี้คือการมาเยี่ยมชมสถานที่ฝังศพโบราณที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป ทว่า หากเป็นช่วงกลางฤดูร้อน บริเวณรอบๆ เมืองอันเตเควรา นับว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ร้อนที่สุดทางตะวันตกของทวีปยุโรป และบ่อยครั้งอุณหภมิก็พุ่งขึ้นสูงกว่า 40 องศาสเซลเซียส อากาศที่แห้งจัดและผืนดินที่แห้งแล้งแห่งนี้ คือสถานที่ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับการทดสอบฟอร์ด โฟกัส ใหม่ การทดสอบในสเปน ตลอด 2 สัปดาห์ของการทดสอบฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ทั้งรุ่นซีดาน 4 ประตู และแฮทช์แบค 5 ประตูในเมืองอันเตเควรา มร. เคลาส์ ชูเออร์แมน วิศวกรระบบของฟอร์ดต้องขับรถมากถึง 500 กิโลเมตรต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์ “ระหว่างการทดสอบรถทั้งสองคัน เราต้องประเมินการทำงานของระบบควบคุมสภาพาอากาศโดยใช้ทั้งข้อมูลจากความรู้สึกของมนุษย์และข้อมูลจากเครื่องวัด เพื่อนำมาใช้สรุปผลและปรับจูนระบบให้เหมาะสม เรานำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากระบบมาเปรียบเทียบกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงระหว่างการเดินทาง แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากห้องโดยสาร อาทิ การปรับอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการหายใจ จากนั้นเราจึงปรับการทำงานของระบบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” มร. ชูเออร์แมน อธิบาย “เราไปเยือนเมืองนี้ 5-6 ครั้ง โดยใช้ระบบที่ผ่านการปรับจูนแตกต่างกัน เพราะเมืองนี้มีทุกสิ่งที่เราต้องการ สภาพอากาศนับว่าค่อนข้างดีมากอยู่เสมอ ลมไม่แรงนัก และเดินทางไปไม่ยากจากเยอรมนี รวมทั้งยังมีภูเขาอยู่ใกล้ๆ ให้เราได้ขับรถขึ้นไปทดสอบระบบการทำงานในสภาพอากาศที่แตกต่างกันราว 10-15 องศา” รถแต่ละคันที่ใช้ทดสอบติดตั้งเซ็นเซอร์มากกว่า 200 จุด เพื่อเก็บข้อมูลมากมายอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิโดยรอบ ความดันของระบบปรับอากาศ ความเร็วเครื่องยนต์ และปริมาณแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังติดเครื่องมือวันอุณหภูมิซึ่งทำจากโครเมี่ยมและนิเกิลไว้บนกระจก เบาะนั่ง วิทยุ และรอบๆ ตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารเพื่อวัดอุณหภูมิทั่วทั้งห้องโดยสาร หนึ่งในความท้าทายหลักของทีมงานนั่นคือการที่ผู้บริโภคทั่วโลกมีความชอบแตกต่างกัน อย่างเช่น ลูกค้าในทวีปอเมริกาเหนือโดยทั่วไปชอบที่จะรู้สึกถึงลมเย็นๆ จากเครื่องปรับอากาศ ส่วนลูกค้าในยุโรปชอบความเย็นน้อยกว่าและไม่ต้องการปะทะกับแรงลม ดังนั้น ในส่วนนี้สมาชิกแต่ละคนในทีมจึงต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการประเมิน เพราะแม้ว่าเซ็นเซอร์จะตรวจวัดค่าที่ถูกต้องได้จริง แต่เมื่อพูดถึงความชอบแล้ว การใช้ประสบการณ์ของมนุษย์ตัดสินว่าห้องโดยสารควรมีความเย็นอย่างไรย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ขณะที่วิศวกรฝ่ายอื่นๆ ต้องทดสอบรถด้วยการขับขึ้นเขาลงห้วยเพื่อพิสูจน์ศักยภาพการทำงานด้วยบททดสอบสุดโหด ทีมของชูเออร์แมนมีความท้าทายที่ต้องอาศัยความสุขุมมากกว่า “การขับรถทางไกลเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทดสอบระบบควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติ” มร. ชูเออร์แมน กล่าว “ถึงแม้ว่าการขับบนทางหลวงจะไม่ใช่เส้นทางที่น่าตื่นเต้นเร้าใจและยิ่งถ้าต้องขับวันละหลายร้อยกิโลเมตรติดต่อกันหลายๆ วัน ก็อาจถึงขั้นเรียกได้ว่าน่าเบื่อ แต่นั่นเป็นเพราะเราไม่ต้องการทดสอบความคล่องตัวของรถ เราต้องใช้ถนนตรงๆ และความเร็วคงที่ เพื่อเน้นไปที่การทำงานของระบบปรับอากาศ” เตรียมตัว ระวัง เย็น! หลังจากขับไปได้ประมาณ 250 กิโลเมตร ทีมของชูเออร์แมนแวะจอดพักที่ร้านกาแฟเล็กๆ ข้างถนนที่ค่อนข้างกันดาร โดยขับผ่านร่มเงาของต้นมะกอกขนาดใหญ่สองต้น และเลือกจอดรถสองคันคู่กันท่ามกลางแสงแดด “นี่เป็นการทดสอบที่สาหัสที่สุด” มร. ชูเออร์แมน อธิบาย “เราจอดรถตากแดดเอาไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จนอุณหภูมิในรถเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 60 องศา จากนั้นจึงขับออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร และดูว่าต้องใช้เวลานานเท่าใดกว่ารถจะกลับมาอยู่ในอุณหภูมิที่ผู้ขับขี่รู้สึกสบายซึ่งเราได้ตั้งค่าเอาไว้ก่อนหน้า เราต้องสังเกตด้วยว่ากระบวนการดังกล่าวทำให้ผู้ที่อยู่ในรถรู้สึกอย่างไรบ้าง ช่วง 2-3 นาทีแรกค่อนข้างอึดอัดมาก แต่เนื่องจากระบบปรับอากาศทำงานได้ดีเยี่ยม หลังจากนั้นไม่กี่นาทีอากาศในรถก็เริ่มอยู่ในระดับที่รับได้” จากนั้น ทีมวิศวกรต้องทดสอบการขับแบบต่างๆ อาทิ การขับบนที่สูงและทางโค้ง ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าระบบปรับอากาศและจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในห้องโดยสารขณะที่ระบบกำลังปรับการทำงาน ระหว่างการขับขี่ ทีมของมร. ชูเออร์แมน สามารถปรับจูนการตั้งค่าระบบควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติได้โดยตรง รวมทั้งยังนัดประชุมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ร่วมกันทุกเย็น พร้อมวางแผนการทดสอบสำหรับวันถัดไป “การต้องนั่งอยู่ในรถทั้งวันทำให้เราเหนื่อยมาก นั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวในงานนี้ที่ผมไม่ค่อยสนุกด้วยนัก” มร. ชูเออร์แมน กล่าว “แต่สิ่งที่ดีเลิศมากๆ นั่นคือระบบควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติของฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ที่ทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งไม่เพียงทำให้งานของเราง่ายขึ้น แต่ยังสะดวกสบายมากขึ้นด้วย”
แท็ก ฟอร์ด   โฟกัส   ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ