กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--WWF
วันอนุรักษ์แรดโลก ในวันที่ 22 กันยายนนี้ WWF และ TRAFFIC ร่วมกันเรียกร้องให้เวียดนาม เพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้านอแรด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรแรดทั้งในเอเชียและอัฟริกาเผชิญภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งเพียงปีนี้ปีเดียว มีแรดอัฟริกาใต้ 381 ตัวถูกล่าเพื่อสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคในเอเชีย โดยเฉพาะในเวียดนาม “เวียดนามเคยเป็นประเทศที่มีประชากรแรด ซึ่งการสูญพันธุ์ของแรดชวาที่คาดว่าเป็นตัวสุดท้ายในอุทยานแห่งชาติก๊าด เตียน เมื่อปี 2553 ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ในการปกป้องสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์” ดร. เหวียน บา หงาย ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ คณะบริหารป่าไม้, เกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม กล่าว
“ความต้องการนอแรด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แรดถูกไล่ล่าตลอดทั้งวันทั้งคืน และเกิดการลักลอบค้าแรดข้ามพรมแดน โดยมีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกันทั่วโลกในความพยายามอนุรักษ์แรด เวียดนามจึงทำงานอย่าง ใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด และเพิ่มความตระหนักรู้แก่สังคมในการต่อสู้กับการ ลักลอบค้าสัตว์ป่า” เขากล่าว
วันนี้ WWF- เวียดนามและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานจัดการไซเตสของเวียดนาม นำผู้แทนรัฐบาลจากทั้งเวียดนาม, อัฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านยาแผนโบราณ มาร่วมมือกันสำรวจความพยายามระดับโลกเพื่ออนุรักษ์แรด
“นอแรดไม่ได้เป็นของประดับผนัง หรือเป็นส่วนผสมของยาที่มีการแนะนำกันแบบผิดๆ นอแรดเป็นของแรดที่มีร่างกายสมบูรณ์ ที่อาศัยในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของมัน” ลอร่า สโตน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงฮานอยกล่าว “วันอนุรักษ์แรดโลก ถือเป็นโอกาสอันดีในการขจัดความเชื่อโบราณที่เกี่ยวข้องกับนอแรด”
“เราหวังว่าการหารือในวันนี้ จะเป็นการสำรวจวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ในการจัดการกับประเด็นยากๆ เรื่องความต้องการนอแรดที่เพิ่มสูงขึ้นในเวียดนาม” ซาบรี เซน ผู้อำนวยการฝ่ายกฏหมายของ TRAFFIC กล่าว
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้ง WWF และ TRAFFIC ร่วมเปิดตัวการรณรงค์ระดับโลก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลก ต่อสู้กับ การลักลอบค้าสัตว์ป่า และลดความต้องการนอแรด, งาช้าง และอวัยวะเสือ ส่วนในเวียดนาม WWF และ TRAFFIC ร่วมทำงาน กับหน่วยงานภาครัฐ ในการวางกลยุทธ์เพื่อลดการบริโภคนอแรด ทั้งยังเรียกร้องให้มีการออกกฏหมายที่รุนแรงขึ้นสำหรับจัดการกับการลักลอบค้านอแรด
“WWF ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลเวียดนามและอัฟริกาใต้ ให้รับรองข้อตกลงร่วมกันเพื่อหยุดการค้านอแรดอย่างเป็นทางการ ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน” อลิซาเบธ แม็คเอลลัน ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ของ WWF กล่าว “แค่เพียงคำพูดนั้นไม่เพียงพอที่จะยุติการสังหารแรด และลักลอบค้านอของพวกมัน ทั้งสองประเทศจะต้องเพิ่มความพยายามให้มากกว่านี้ ในการนำสัญญาไปปฏิบัติจริง”
อัฟริกาใต้เป็นบ้านของประชากรแรดที่มากที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อ WWF- อัฟริกาใต้ ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรับมือกับความท้าทายสำคัญที่สุดต่อการดำรงอยู่ของแรด แผนปฏิบัติการนี้ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนความพยายามที่จะลดความต้องการนอแรดในเอเชีย, เพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่สืบสวนในการรวบรวมหลักฐานทางนิติเวชประกอบ การพิจารณาคดี และส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
“แรดนั้นมีคุณค่ามหาศาลต่ออัฟริกาใต้ เนื่องจากมันเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เราเรียกว่า Big Five ซึ่งประกอบด้วยควายป่า, ช้าง, เสือดาว, สิงโต และแรด” นันตาตู สโกโล ที่ปรึกษาด้านการเมืองประจำสถานทูตแอฟริกาใต้ในกรุงฮานอยกล่าวระหว่างการ หารือ “การท่องเที่ยวของประเทศเราพึ่งพาสัตว์ป่าโดยเฉพาะ Big Five ดังนั้นการลักลอบล่าแรดจึงเป็นการทำร้ายการท่องเที่ยวของเราอย่างรุนแรงด้วย”
วันอนุรักษ์แรดโลก ริเริ่มโดย WWF- อัฟริกาใต้ เมื่อปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงชะตากรรมของสัตว์ป่า ขณะนี้แรดบางสายพันธุ์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากการลักลอบล่าเอานอ เพื่อสนองต่อความต้องการในตลาดเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น