กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสัมมนาการนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์นักศึกษาโครงการสร้างภาคีผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี 2555 จำนวน 28 เรื่อง มุ่งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของประเทศไทย ครอบคลุมสาขาพลังงาน อาหาร เภสัชศาสตร์ การเกษตร สิ่งแวดล้อม ชีวภาพ โลหะ/วัสดุ ระบุ 30 สถาบันการศึกษาและนักศึกษามากกว่า 200 คนเข้าร่วมโครงการ
นางสาวสมคิด บัวเพ็ง กรรมการบริหาร วว. ชี้แจงในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “การนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา โครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญา โท-เอก ประจำปี 2555 ว่า วว. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรของชาติ “โครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก” จึงได้กำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 และปัจจุบันได้ดำเนินการโครงการนี้กับสถาบันการศึกษา ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของภาคการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ด้วยการรับนักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์และมีนักวิชาการเฉพาะสาขาที่มีประสบการณ์ในการวิจัย ความรู้ความเชี่ยวชาญ เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในหน่วยงานต่างๆ ของ วว. จำนวนมาก เช่น ฝ่ายเทคโนโลยีการอาหาร ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร ฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ ฝ่ายเทคโนโลยีพลังงาน ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ฝ่ายวิศวกรรม และศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติวัสดุ เป็นต้น
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน วว. ได้ร่วมดำเนินโครงการกับสถาบันการศึกษา จำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ ข ณะนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการมากกว่า 200 คน นับเป็นความสำเร็จของ วว. และหน่วยงานพันธมิตรทางการศึกษา ที่ได้ร่วมกันสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้นำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งจะสร้างผลผลิตและผลลัพธ์อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของโครงการในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป และมุ่งเน้นการทำงานเคียงคู่กับภาคอุตสาหกรรม ทำให้นักศึกษาที่ได้ร่วมงานกับ วว. ได้รับการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำงาน และช่วยภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
การนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ภายใต้โครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญา โท-เอก ประจำปี พ.ศ.2555 มีจำนวน 28 เรื่อง ดังนี้
1.พฤกษเคมีและการวิเคราะห์ปริมาณสารออกฤทธิ์ในใบขี้อ้นดอน 2. Atropine suppresses operant behavior in rats: Implication in the study of Alzheimer's disease 3. สารสกัดสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในส้มโอและกลไกการออกฤทธิ์ 4.การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระความเป็นพิษต่อเซลล์ และฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดจากเปลือกและเยื่อหุ้มเมล็ดของผลฟักข้าวสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์วิกฤตยิ่งยวด 5.ผลของปัจจัยการผลิตโดยกระบวนการเอ็กซทรูชันที่มีต่อสมบัติของขนมขบเคี้ยวที่เป็นแหล่งของไฟเบอร์ 6.การประเมินการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของพืชสมุนไพรสำหรับปรุงอาหารสองชนิด : โหระพา และร็อคเก็ตสลัด
7.การใช้บรรจุภัณฑ์แบบปรับเปลี่ยนบรรยากาศร่วมกับการลดอุณหภูมิในระบบสุญญากาศเพื่อยืดอายุการเก็บของใบกระเพราในบรรจุภัณฑ์ผักรวม 8.สภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิตน้ำตาลทากาโทสจากแบคทีเรียอะซิติก สกุล Asaia bogorensis NRIC 0311T 9.การพัฒนาสิ่งทดแทนอาหารเพาะเชื้อที่มีนมเป็นองค์ประกอบ สำหรับการผลิต Bifidobacteriumanimalis 10.การศึกษาผลิตภัณฑ์ออกซิเดทีฟจากแบคทีเรียอะซิติกสกุล Kozakia baliensis 11.การเตรียมและการวิเคราะห์พอลิเมอร์คอมโพสิทที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเตรียมจากแป้งมันสำปะหลังและเส้นใยธรรมชาติ
12.ผลของวิธีการสังเคราะห์ต่อสมบัติเทอร์โมอิเล็กทริกของเซรามิกโซเดียมโคบอลเทต 13.การทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คาร์บอนต่ำด้วยอนุภาคละเอียดของเถ้าชานอ้อย 14. การผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำกากส่าของโรงงานผลิตเอทานอลโดยใช้การหมักด้วยระบบยูเอเอสบี 15.พฤติกรรมการไหลของอนุภาคในปฎิกรณ์ฟลูอิไดซ์เบดสองชั้น 16.การพัฒนาระบบควบคุมอุณหภูมิในเตาปลูกผลึกโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ 17.อิทธิพลของกรรมวิธีทางความร้อนต่อค่าฮีสเตอร์รีซีสของการยืดหดของเหล็กกล้าชนิดต่างๆ เมื่อรับแรง 18.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพในน้ำเสียที่มีแอมโมเนียโดยซีโอไลต์เอจากเถ้าชานอ้อย
19.การย่อยสลายทางชีวภาพของลิเนียร์อัลคิลเบนซีนซัลโฟเนทโดยจุลินทรีย์ AOS-15 20.การผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากกากสบู่ดำโดยใช้ Two-stage screw pyrolyzer 21.การสังเคราะห์เมทานอลบนตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดทองแดง/สังกะสีออกไซด์/อะลูมินาในรูปของเสลอร์รี 22.การสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับปฏิกิริยา Cracking น้ำมันดิน 23.การผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากกากไขมัน ภายใต้สภาวะความดันและอุณหภูมิสูง
24.การพัฒนาถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่เพื่อกระบวนการเร่งปฏิกิริยาการสลายทาร์ 25.Production of bio-oil by hydrothermal pyrolysis of food waste over ceria catalyst 26.การกำจัดน้ำมันดินของไม้ยูคาลิปตัสในกระบวนการแก๊สซิฟิเคชันแบบแก๊สไหลลง 27.การกำจัดคลอรีนจากกระบวนการไพโรไลซิสขยะพลาสติก และ 28. การพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันที่ใช้แล้วด้วยปฏิกิริยาที่สภาวะเหนือจุดวิกฤติ
อนึ่ง วว. ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยของรัฐในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้การทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีระบบ สามารถวิเคราะห์ผลร่วมกับนักวิชาการอาชีพ และทราบปัญหาที่แท้จริงของภาคการผลิต เนื่องจากพันธกิจของ วว. นั้นมุ่งเน้นการทำงานเคียงคู่กับภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ส่งผลให้นักศึกษาที่ได้ร่วมงานกับ วว. ได้รับการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำงานและช่วยภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำวิทยานิพนธ์ เป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ สารเคมี และค่าบริการวิเคราะห์ทดสอบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากเค้าโครงวิทยานิพนธ์ผ่านการอนุมัติสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาโท และไม่เกิน 4 ปี นับจากเค้าโครงวิทยานิพนธ์ผ่านการอนุมัติสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาเอก ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของ วว. ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและนักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนในกรณีที่ทำวิทยานิพนธ์ในโครงการที่ วว. เป็นเจ้าของโครงการและดำเนินการวิจัยที่ วว. เป็นหลัก
สำหรับนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์ประสานงานโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก โทร. 0 2577 9176 (ดร.โศรดา วัลภา) หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.tistr.or.th/thesis