กระทรวงพลังงานเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรองรับวิกฤตน้ำมัน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 31, 2004 09:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สนพ.
กระทรวงพลังงานเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรองรับวิกฤตน้ำมัน เตรียมปรับปรุงระเบียบรับซื้อไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมากเพื่อขยายปริมาณพลังไฟฟ้าขายเข้าระบบเป็น
5 เมกะวัตต์ จากเดิมไม่เกิน 1 เมกะวัตต์
นายวีระพล จิระประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนพ. อยู่ระหว่างเตรียมการปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (Very Small Renewable Energy Power Producer : VSPP) เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากขึ้น
โดยการขยายปริมาณพลังไฟฟ้าขายเข้าระบบจากไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ เป็นไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ ซึ่ง สนพ. จะมีการศึกษาในรายละเอียดก่อนเสนอ กพช. ต่อไป
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มี VSPP ที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ สนใจและเสนอขายไฟเข้าระบบแล้วทั้งในเขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งสิ้นจำนวน 48 โครงการ
คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบประมาณ 5,070 กิโลวัตต์ แบ่งเป็น เขต กฟน. จำนวน 33 ราย และเขต กฟภ. จำนวน 15 ราย
โดยในส่วนของ กฟภ. มี VSPP ที่สามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้แล้วจำนวน 9 ราย คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบประมาณ 3,018 กิโลวัตต์ และ กฟน. จำนวน 1 ราย คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบประมาณ 1.5 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นผลจากเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP และการแก้ไขระเบียบการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายว่าด้วยการเดินเครื่องกำเนิดขนานกับระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้าให้ถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ การให้อนุญาตผลิตไฟฟ้าแทนการให้สัมปทาน และการปรับปรุงวิธีคำนวณค่าไฟใหม่ ทำให้
VSPP สามารถดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าผ่านเข้าระบบได้
"ความสนใจของผู้ผลิตไฟฟ้าที่ต้องการขายไฟเข้าระบบมีมากขึ้น ตัวอย่างในภาค อุตสาหกรรมภาคใต้ที่ใช้เชื้อเพลิงจากปาล์มน้ำมันผลิตไฟฟ้า แต่ติดประเด็นเรื่องของกฎระเบียบที่ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องขายไฟเข้าระบบไม่เกิน 1 เมกะวัตต์
ดังนั้นกระทรวงพลังงานได้หามาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากขึ้น เพราะโครงการต่างๆ เหล่านี้สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งทรัพยากร อันจะส่งผลให้พื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้ เสริมความมั่นคง และป้องกันไฟฟ้าขาดแคลนได้อีกทางหนึ่ง โดยเป็นการช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐ" นายวีระพล กล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ