ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิต “ธ. กรุงศรีอยุธยา”: องค์กรที่ “AA-” หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ “A+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 27, 2012 11:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A+” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ สถานะทางการตลาดที่มั่นคงในธุรกิจหลักของธนาคาร ตลอดจนฐานะการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเงินกองทุนที่มีความแข็งแกร่ง อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) ในฐานะผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารในสัดส่วน 25% ณ วันที่ 26 กันยายน 2555 อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกบั่นทอนจากความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศและสถานการณ์การเงินทั่วโลกซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจำกัดความสามารถในการขยายธุรกิจและทำกำไรของธนาคาร ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะดำรงสถานะทางธุรกิจและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นต่อไปได้ในระยะกลาง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่มูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 มีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินทรัพย์ 8.4% เงินให้สินเชื่อ 8.9% และเงินรับฝาก 7.5% ในขณะที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 1,034.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% จากเดือนธันวาคม 2554 ธนาคารยังคงเป็นผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตและให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 และเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ธนาคารมีการเติบโตทั้งจากการขยายธุรกิจและจากการซื้อกิจการ ทั้งนี้ การซื้อกิจการช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการตลาดของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและธุรกิจบัตรเครดิต อีกทั้งยังช่วยกระจายสินเชื่อไปในภาคส่วนที่ให้ผลตอบแทนสูงมากยิ่งขึ้น (อาทิ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) ที่ผ่านมา ธนาคารได้ซื้อกิจการ บริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (GECAL) ในปี 2551 และซื้อกิจการธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อย, เอไอจี คาร์ด และ จีอี มันนี่ (ประเทศไทย) ในปี 2552 นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ธนาคารประสบความสำเร็จในการซื้อธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในประเทศไทยจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยได้พอร์ตสินเชื่อมูลค่า 13.9 พันล้านบาทและพอร์ตเงินรับฝากอีก 9.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ 48% เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2550 ในขณะที่สัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงมาอยู่ที่ 26% จาก 34% และสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กลดลงจาก 44% มาอยู่ที่ 26% อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจอ่อนแอลงได้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนที่รวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารยังคงเพียงพอสำหรับรองรับการเสื่อมค่าลงที่มิอาจคาดการณ์ได้ของสินทรัพย์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดทั้งความรู้และระบบงานจากกลุ่ม GE ภายหลังการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ ทั้งนี้ ธนาคารได้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจเพื่อความสำเร็จในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารยังเร่งการเติบโตโดยมุ่งเน้นการผสานความเป็นหนึ่งในกลุ่ม รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการขายผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง (Cross-selling) โดยคาดว่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในมูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจ (Franchise Value) ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้บริหารยังคงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพของสินทรัพย์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการเติบโตในสินทรัพย์ที่สร้างผลกำไรแก่ธนาคาร ฐานะทางการเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการเติบโตของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกำไร รวมถึงประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนด้านเครดิต รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นในปี 2554 รวมทั้งในงวดครึ่งแรกของปี 2555 ทั้งนี้ กำไรสุทธิก่อนหักภาษีเงินได้ในปี 2554 มีจำนวน 15.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% จาก 12.3 พันล้านบาทในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ภาษีเงินได้ของธนาคารในปี 2554 เพิ่มขึ้น 2.1 พันล้านบาท อันเป็นผลจากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชีขึ้นใหม่จากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2555 ส่งผลทำให้กำไรสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 5.4% เป็น 9.3 พันล้านบาทในปี 2554 จาก 8.8 พันล้านบาทในปี 2553 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) ในปี 2554 เท่ากับ 1.02% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.07% ในปี 2553 สำหรับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (ROAE) ในปี 2554 เท่ากับ 9.18% ใกล้เคียงกับระดับ 9.17% ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิงวดครึ่งแรกของปี 2555 มีจำนวน 7.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 23.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน ROAA และ ROAE ที่ยังไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีเท่ากับ 0.72% และ 6.77% ตามลำดับ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.65% และ 5.78% ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น และจากความทุ่มเทที่ผ่านมาธนาคารสามารถแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพในอดีตได้ สะท้อนจากปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวน 24.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ลดลงจาก 52.1 พันล้านบาทในปี 2552 สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 8.6% ในปี 2552 เหลือเพียง 3.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งที่ระดับ 3.4% (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ในขณะเดียวกัน สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เงินให้สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน เงินให้สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 เท่ากับ 4.9% ลดลงอย่างมากจาก 10.1% ในปี 2553 และ 17.0% ในปี 2552 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเงินกองทุนและค่า เผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพียงพอสำหรับรองรับสินทรัพย์ที่อาจเสื่อมค่าลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคิดเป็น 0.35 เท่าของเงินกองทุนที่รวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งลดลงจาก 0.61 เท่าในปี 2553 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ 0.48 เท่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีแหล่งเงินทุนที่มีการกระจายตัวซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารมากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังพยายามเพิ่มปริมาณลูกค้ารายย่อยเพื่อกระจายแหล่งเงินทุนให้มากยิ่งขึ้นด้วย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีเงินรับฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์ซึ่งนับเป็นแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพในสัดส่วน 39% ของเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงิน เพิ่มขึ้นจาก 33% ในปี 2554 ทางด้านสภาพคล่องของธนาคารนั้นมีความตึงตัวมากกว่าธนาคารอื่น อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงินเพิ่มขึ้นจาก 101% ในปี 2554 เป็น 105% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ 94% แต่หากนำหุ้นกู้มาพิจารณาร่วมด้วยแล้วอัตราส่วนของธนาคารจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของระบบ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียง 20% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 28% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 เงินกองทุนของธนาคารกรุงศรีอยุธยารยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารจะลดลงจาก 11.9% ในปี 2552 เป็น 10.8% ในปี 2554 และ 10.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ธนาคารยังคงมีเงินกองทุนที่เพียงพอต่อการเติบโตในระยะกลาง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ที่ระดับ 11.51% และ 16.00% ตามลำดับ ลดลงจาก 11.85% และ 16.29% ในปี 2554 ทั้งนี้ อัตราส่วนของธนาคารยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 10.39% และ 14.84% และยังคงมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.25% และ 8.50% ทริสเรทติ้งกล่าว ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ AA- อันดับเครดิตตราสารหนี้: BAY206A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 คงเดิมที่ A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ