CG ตลาดทุนไทยพุ่งขึ้นอันดับ 3 ในเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 27, 2012 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ก.ล.ต. รายงาน CG Watch ซึ่งเป็นการประเมินการกำกับดูแลกิจการของตลาดทุนในเอเชีย ที่จัดทำโดย Asian Corporate Governance Association และ CLSA Asia-Pacific Markets ล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2012 ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ถัดจากสิงคโปร์และฮ่องกง โดยมีญี่ปุ่นและมาเลเซียติดตามมาเป็นอันดับที่ 4จากการประเมินทั้งหมด 11 ประเทศ โดยในการประเมินครั้งนี้ ไทยได้คะแนนดีขึ้น 4 หมวด จาก 5 หมวด ผลการประเมินของไทยที่สำคัญได้แก่ (1) หมวดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการและการปฏิบัติซึ่งผู้ประเมินให้น้ำหนักกับการที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่สามารถเปิดเผยงบการเงินประจำปีได้ภายใน 60 วัน ซึ่งในหลายประเทศทำไม่ได้ รวมถึงการสอบทานงบการเงินอย่างเข้มงวดโดย ก.ล.ต.ที่นำไปสู่การทำ special audit หรือการแก้ไขงบการเงินให้ถูกต้อง สำหรับการจัดประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนยังคงโดดเด่นทั้งการเตรียมวาระ การโหวตโดยใช้บัตรลงคะแนน และการจัดทำรายงานการประชุมที่มีเนื้อหาครบถ้วนและทันกาล อย่างไรก็ดี ส่วนที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นคือ การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน เช่น คำอธิบายและบทวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน (MD&A) รายงานด้าน CG และรายงาน CSR เป็นต้น (2) หมวดการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยได้คะแนนดีขึ้นเล็กน้อย โดยผู้ประเมินเห็นว่ามีเรื่องที่น่าสนใจเช่น การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของผู้บริหารบริษัทจากเหตุถูก ก.ล.ต. ลงโทษ การกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยไปใช้สิทธิในวาระที่อาจมีความขัดแย้งทางประโยชน์ และในส่วนของภาคเอกชนที่ดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี ได้แก่ การทำหน้าที่ของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยในการประเมินคุณภาพการจัดประชุมประจำปีผู้ถือหุ้น และการเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นในการตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่ในขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐ ผู้ประเมินยังคงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องมาจากจำนวนคดีที่เสร็จสิ้นในชั้นศาลมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษไป (3) หมวดบรรยากาศด้านการเมืองและกฎหมาย ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม โดยผู้ประเมินมีความเห็นว่าช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขกฎหมายไม่มีความคืบหน้ามากนัก นอกจากนี้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยควรปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ให้ค้นหาได้สะดวกยิ่งขึ้น (4) หมวดว่าด้วยการจัดทำบัญชีและการตรวจสอบ ซึ่งเป็นหมวดที่ไทยได้คะแนนดีขึ้นมาก จากการที่ ก.ล.ต. แสดงบทบาทด้านการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในการยกระดับการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีจนเป็นที่ยอมรับในหลายภูมิภาคทั้งอเมริกาและยุโรป รวมทั้งได้ทำการประเมินคุณภาพสำนักงานสอบบัญชีตามมาตรฐานสากลเสร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่ และ (5) หมวดวัฒนธรรมธรรมาภิบาล ผู้ประเมินมีความเห็นว่าวัฒนธรรมหรือบรรยากาศธรรมาภิบาลของไทยดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการทำงานของหลายภาคส่วน เช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ที่ได้จัดอบรมความรู้ให้แก่กรรมการบริษัทอย่างต่อเนื่องและโดดเด่น สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีผ่านกิจกรรมต่าง ๆในหมวดนี้ที่ผู้ประเมินเห็นความก้าวหน้ามากที่สุดคือ การรวมตัวของภาคเอกชนจัดตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแนวคิดนี้จำนวนมาก อย่างไรก็ดี ผู้ประเมินยังคงไม่มั่นใจว่าการดำเนินการของภาคเอกชนจะแก้ไขปัญหานี้ได้จึงต้องติดตามต่อไป นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การได้รับการประเมินเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทำให้รู้ว่าเรามีจุดเด่นและจุดด้อยตรงไหนบ้าง เพื่อที่จะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตรงจุด และการจัดอันดับเปรียบเทียบทำให้เรารู้ตำแหน่งที่เรายืนอยู่ รู้ระดับความเป็นมาตรฐานสากลของเรา และจุดหมายที่เราจะก้าวต่อไป ผลประเมินปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 3 โดยเป็นรองเพียง 2 ประเทศ คือสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งนับว่าโดเด่นกว่าอีกหลายประเทศในกลุ่ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนที่เห็นความสำคัญของการมีกำกับดูแลกิจการที่ดี ในส่วนที่ยังต้องการปรับปรุงอย่างชัดเจนคือการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและภาครัฐอย่างมาก และในส่วนของการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก.ล.ต.ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีด้านหลักทรัพย์กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าการดำเนินการด้านนี้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ ส่วนการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งมีแผนที่จะใช้งานได้ภายในต้นปี 2556” นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาโดยตลอด โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน หรือ CG Center ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการและผู้บริหาร พร้อมจัดกิจกรรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 รวมถึงให้การสนับสนุนแก่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในการสำรวจการจัดทำรายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CGR) ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมี Benchmark ในการพัฒนางาน CG และในปี 2555 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2549 โดยศึกษาจากหลักการ CG ของสถาบันต่างประเทศผนวกกับเกณฑ์การประเมินของ ASEAN CG Scorecard ที่จะใช้เป็นแนวปฏิบัติให้บริษัทจดทะเบียนเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) นอกจากนี้ ยังผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน Sustainability Development Report (SD Report) ตามกรอบการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI) โดยได้จัดทำและเผยแพร่คู่มือรวมทั้งการจัดอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทจดทะเบียน ซึ่งเชื่อว่าหากบริษัทจดทะเบียนมีการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการที่ยึดหลักการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้บริษัทมีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนมากขึ้นด้วย” นายมงคล ลีลาธรรม นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า “สมาคมฯ ได้ดำเนินการอย่างมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคลและปกป้องสิทธิประโยชน์ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการพัฒนาให้ตลาดทุนไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยทางสมาคมฯ ได้จัดทำโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2549 เพื่อยกระดับคุณภาพและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างดีจึงทำให้คุณภาพในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นเป็นลำดับ และได้จัดทำโครงการอาสาพิทักษ์สิทธิ์ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการจุดประกายให้ผู้ถือหุ้นรายบุคคลมี value creation ที่กล้าคิด กล้ามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นมากยิ่งขึ้น” นายเกษตร ชัยวันเพ็ญ กรรมการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “สมาคมฯ ให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการ โดยเฉพาะในด้านการลงทุน บริษัทสมาชิกสมาคมได้มีการคัดกรองหุ้นที่ลงทุนโดยใช้ CG Scoring เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนในระยะยาวต่อผู้ลงทุน รวมถึงใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงต่อนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยตระหนักถึงผลเสียของการคอร์รัปชันต่อประสิทธิภาพของบริษัทเอกชนไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศและการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต” นายประทีป ตั้งมติธรรม อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า “สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยเห็นความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสนับสนุนให้สมาชิกปฏิบัติตามหลักการเรื่องดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากคะแนนในหมวด CG Practice และ CG Culture การมีแนวทางการปฏิบัติในเรื่องนี้ที่ชัดเจน เหมาะสมกับธุรกิจ และผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะช่วยทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและมีความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลที่ตรงกัน ปัจจุบันสมาคมเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลรวมทั้งประสานงานให้สมาชิกและชมรมเลขานุการบริษัทสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เป็นรูปธรรมมาโดยตลอด ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการสัมมนาและ workshop ซึ่งในเร็ววันนี้ก็จะจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อม ASEAN CG Scorecard ด้วย” นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า “IODตระหนักดีว่าการส่งเสริมการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการสร้างวัฒนธรรมของการกำกับดูแลกิจการ IOD จึงให้ความสำคัญกับกรรมการบริษัท ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยปัจจุบัน IOD มีหลักสูตรการอบรมถึง 22 หลักสูตร มีกรรมการให้ความสนใจเข้ารับการอบรมจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักสูตร DCP และ DAP มี ผู้ผ่านการอบรมรวมกันประมาณหนึ่งหมื่นราย พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา CG ในวงกว้างควบคู่กันไปโดยทำการประเมิน CG ของบริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการ CG Rating รวมทั้งได้ร่วมกับองค์กรเอกชนชั้นนำเพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ด้าน CG ให้กับตลาดทุนไทยผ่านโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนลงนามประกาศเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมแล้ว 121 บริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนจำนวน 72 บริษัท นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า บทบาทของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน คือการทำหน้าที่เป็นผู้จุดประกายของสังคมให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมในการต่อต้านคอร์รัปชัน ดังนั้นความสำเร็จใด ๆ ที่เกิดขึ้น จึงขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของทุกฝ่าย ทุกองค์กรที่จะทำงานร่วมกัน เพราะประเทศไทยไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง การโกงกิน การคอร์รัปชันส่งผลถึงทุกชีวิต ไม่ว่ารวยหรือจน ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของประเทศ ชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของคนไทย จึงเป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน ใช้ความรู้ ความสามารถและความเชื่อมั่นและสู้ไปด้วยกัน”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ