สรุปผลงานวิจัย “ กลไกความช่วยเหลือผู้รับผลกระทบการเปิดเสรีทางการค้า ”

ข่าวทั่วไป Thursday September 27, 2012 17:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--นิวส์ เพอร์เฟค คอมมูนิเคชั่น การเปิดเสรีทางการค้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เชิงรุกของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนในระดับภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างพันธมิตรทางการค้า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี จะทำให้ภาพรวมทางการค้าของประเทศดีขึ้นและมีผู้ได้รับประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตบางสาขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเกษตรกรไทยซึ่งยังมีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างต่ำและเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขาดแคลนเงินทุนสำหรับการปรับปรุง พัฒนา หรือปรับเปลี่ยนอาชีพ รวมทั้งขาดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตามข้อตกลง ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิตนั้น ข้อตกลงการค้าเสรีส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศและอยู่รอดได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 190 กำหนดให้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อให้เกิดความสมดุลของผลประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของสังคม และต้องให้ความสำคัญในการกำหนดและจัดทำมาตรการภายในประเทศเพื่อรองรับการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อกลุ่มคนภายในประเทศ และเร่งดำเนินการใช้มาตรการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อรองรับข้อตกลงการค้าเสรีของไทยที่มีผลบังคับใช้แล้ว ภาครัฐจึงได้มีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยการจัดตั้งกองทุน 2 กองทุน ได้แก่ 1) กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA เกษตร) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยให้การสนับสนุนเงินทุนทั้งในรูปเงินยืม/เงินหมุนเวียน และเงินจ่ายขาด เพื่อใช้สนับสนุนสินเชื่อปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยี สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา การให้ความรู้จัดฝึกอบรมและดูงาน 2) กองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA พาณิชย์) จัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยได้ดำเนินการในรูปของโครงการเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า เพื่อให้สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยให้เงินทุนสนับสนุนในด้านการศึกษา วิจัยพัฒนา การจัดหาที่ปรึกษาเพื่อช่วยในการปรับปรุงธุรกิจ และการจัดฝึกอบรม งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลไกและมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าของประเทศไทยในปัจจุบัน ผ่านทั้ง 2 กองทุนดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น โดยศึกษาในกรณีของสินค้า 3 กลุ่มสินค้า (9 รายการสินค้า) ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่ได้รับความช่วยเหลือจากทั้ง 2 กองทุน (โคเนื้อ นมและผลิตภัณฑ์นม ชา กาแฟ กระเทียม เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง) กลุ่มสินค้าที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือขอคืนความช่วยเหลือ (ชิ้นส่วนยานยนต์) และ กลุ่มสินค้าที่ไม่ขอความช่วยเหลือจากกองทุน (ผลิตภัณฑ์เหล็ก) โดยวิธีการศึกษาด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ตัวแทนของ เกษตรกร/ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร/กลุ่มผู้ประกอบการ ตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ ผู้นำเข้า และผู้ผลิตที่รับซื้อสินค้าจากเกษตรกร ตลอดจนศึกษากลไกและมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในต่างประเทศ โดยศึกษากรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้ความช่วยเหลือของประเทศไทยให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ผลการศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ ผ่านกองทุนความช่วยเหลือทั้ง 2 กองทุน มีดังนี้ วัตถุประสงค์ของกองทุน ทั้งกองทุน FTA เกษตร และกองทุน FTA พาณิชย์ ได้ดำเนินการตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การเข้าถึงกองทุน การประชาสัมพันธ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ กองทุน FTA เกษตร มีเงื่อนไขในการขอความช่วยเหลือคือ เกษตรกรต้องระบุถึงผลกระทบที่ได้รับจากข้อตกลงการค้าเสรี หรือคาดว่าจะได้รับจากข้อตกลงการค้าเสรี โดยการอ้างอิงผลการศึกษาจากสถาบันต่างๆ โดยจากผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรมีปัญหาในการเขียนโครงการให้ถูกต้องตามที่ทางกองทุนกำหนด และพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรี (การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง) ส่วนกองทุน FTA พาณิชย์ มีเงื่อนไขการขอความช่วยเหลือจากกองทุนที่ผ่อนปรนมากกว่ากองทุน FTA เกษตร เพราะไม่เพียงแต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางลบเท่านั้นที่มีสิทธิขอความช่วยเหลือจากกองทุน ผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางบวก (สามารถส่งออกได้มากขึ้น) ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรุกตลาดต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามปัญหาในการเข้าถึงกองทุนก็คล้ายกับกองทุน FTA เกษตร คือ ผู้ประกอบการไม่มีความเข้าใจในหลักการเขียนโครงการให้ตรงกับข้อกำหนดของทางกองทุน ประกอบกับงบประมาณที่ให้ความช่วยเหลือมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการการช่วยเหลืออุตสาหกรรม ความทั่วถึง ครอบคลุม ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การช่วยเหลือของทั้งกองทุน FTA เกษตร และกองทุน FTA พาณิชย์นั้นยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยการช่วยเหลือของทั้ง 2 กองทุนมีลักษณะเป็นเพียงโครงการตัวอย่าง (Pilot Project) สำหรับการช่วยเหลือในแต่ละรายการสินค้าเท่านั้น ความรวดเร็วในการอนุมัติโครงการช่วยเหลือของกองทุน กองทุน FTA เกษตรใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เกษตรกรเริ่มเขียนโครงการจนกระทั่งโครงการได้รับการอนุมัติจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 3 ปี โดยสาเหตุการล่าช้าส่วนใหญ่มาจาก เกษตรกรเขียนโครงการไม่ถูกต้องตามที่ระเบียบกองทุนกำหนด อีกทั้งกองทุนมีโครงสร้างการบริหารที่ใหญ่เกินไปซึ่งจะส่งผลกระทบให้การนัดหมายประชุมเพื่ออนุมัติโครงการเป็นไปได้ยาก ส่วนกองทุน FTA พาณิชย์ใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรเริ่มเขียนโครงการจนกระทั่งโครงการได้รับการอนุมัติใช้เวลาตั้งแต่ 4 เดือน — 3 ปี โดยสาเหตุการล่าช้าเช่นเดียวกับกองทุน FTA เกษตร การงบประมาณ กองทุน FTA เกษตรมีเงินงบประมาณปีละประมาณ 100 ล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือใน 2 รูปแบบคือ 1) เงินจ่ายขาด ซึ่งจะจัดสรรเป็นงบประมาณสำหรับการอบรม การดูงาน การวิจัย การจัดหาอุปกรณ์การเกษตรประกอบการวิจัย และ 2) เงินกู้ยืม/เงินหมุนเวียน (เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย) โดยโครงการส่วนมากจะมีระยะเวลาในการกู้เงิน 5 ปี และจะต้องเริ่มคืนเงินในปีที่ 2 ของโครงการ ซึ่งเงื่อนไขการคืนเงินนี้ยังไม่มีกลุ่มเกษตรกรใดสามารถคืนเงินในปีที่ 2 ได้ ต้องทำการขอผ่อนผันจากทางกองทุน ส่วนกองทุน FTA พาณิชย์ มีเงินงบประมาณปีละประมาณ 70 ล้านบาท โดยกองทุน จะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินจ่ายขาดเท่านั้น ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของการอบรม ศึกษาวิจัย จ้างที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ ที่มีระยะเวลาดำเนินการเพียง 1 ปี ดังนั้นจึงเป็นที่สังเกตว่าการช่วยเหลือของกองทุน FTA พาณิชย์นั้นอาจจะขาดความต่อเนื่องได้ การประสานงานและความซ้ำซ้อนของ 2 กองทุน จากการที่กลุ่มเกษตรกรมีสิทธิที่จะขอความช่วยเหลือได้จากทั้ง 2 กองทุน แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถขอความช่วยเหลือได้จากกองทุน FTA พาณิชย์เท่านั้น ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือ จึงมีหลักเกณฑ์ (ไม่เป็นทางการตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้รับผลกระทบเข้าใจได้ง่าย) ในการให้ความช่วยเหลือคือ กองทุน FTA เกษตร จะให้ความช่วยเหลือตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเลี้ยงปศุสัตว์ การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ขณะที่กองทุน FTA พาณิชย์ จะให้ความช่วยเหลือในด้านการตลาด อีกทั้งเลขากองทุนของทั้ง 2 กองทุนจะเป็นกรรมการของอีกกองทุน อย่างไรก็ตามกระบวนการดำเนินการของทั้ง 2 กองทุนนี้จะพิจารณาเป็นรายโครงการ ไม่ได้พิจารณาเป็นรายการสินค้า ส่งผลให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับความช่วยเหลือตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทำให้การช่วยเหลือไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร บทเรียนจากกองทุนอื่นๆ ของต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา มีโครงการ Trade Adjustment Assistance มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 แต่เป็นโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในระยะแรกไม่มีผู้ขอรับความช่วยเหลือรายใดที่ผ่านเกณฑ์ซึ่งกำหนดไว้ในประเด็นการพิสูจน์ว่าการดำเนินธุรกิจต้องได้รับผลกระทบจากการค้าเสรี และภายหลังได้ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น การช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกามีการแบ่งภาระงานภายใต้ 3 หน่วยงานอย่างชัดเจนโดย U.S. Department of Labor ดูแลด้านแรงงาน ช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานให้กลับเข้าทำงานอย่างเร็วที่สุด โดยการขอความช่วยเหลือนั้นสามารถดำเนินการได้โดยกลุ่มแรงงานตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยมีระยะเวลาพิจารณาไม่เกิน 40 วัน หน่วยงาน U.S. Department of Commerce ดูแลหน่วยธุรกิจที่ขอเข้าร่วมโครงการ โดยจะมีการกลั่นกรองจาก Economic Development Administration ว่าเข้าข่ายเป็นหน่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ทั้งนี้การช่วยเหลือจะอยู่ในรูปแบบของแผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นลักษณะเฉพาะ (Custom Made) ของแต่ละหน่วยธุรกิจ โดยการช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นด้านการตลาด ส่วนโครงการด้านสินค้าเกษตรอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน U.S. Department of Agriculture โดยให้ความช่วยเหลือทั้งทางเทคนิคและการเงินแก่เกษตรกรและชาวประมง ซึ่งการร้องทุกข์อาจดำเนินการโดยองค์กรหรือผู้ผลิต 3 รายขึ้นไป การให้ความช่วยเหลือมีตั้งแต่การปรับปรุงการผลิตจนถึงการตลาด สหภาพยุโรปมีกองทุน European Globalization Adjustment Fund (EGF) ให้ความช่วยเหลือเฉพาะแรงงานที่สูญเสียงานจากกระแสการค้าใหม่เท่านั้น เพื่อให้มีงานทำเร็วที่สุด โดยมีการอบรมอาชีพ แนะนำอาชีพ ทั้งนี้ยังมีการช่วยเหลือทางด้านการเงินระหว่างหางาน ย้ายถิ่น หรือการร่วมกิจกรรมอบรม ออสเตรเลียมี Productivity Commission ที่ดูแลการปรับตัวจากการค้าเสรี โดยมีการวิเคราะห์ภาพรวมของภาคการผลิต โดยมีหน่วยงาน AusIndustry ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ และกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของแต่ละภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวนงบประมาณมหาศาล โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับโครงการที่แตกต่างกันออกไป อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ยานยนต์และชิ้นส่วน และยา สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น นม โดยมีองค์กรภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกันดูแลเกษตรกร ซึ่งมีการช่วยเหลือตั้งแต่การผลิต การตลาด การเปลี่ยนอาชีพ และมีเงินช่วยเหลือฉุกเฉินด้วย สาธารณรัฐเกาหลี ให้การช่วยเหลือเฉพาะอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งให้ความสำคัญกับหน่วยธุรกิจมากกว่าแรงงาน เกาหลีประสบปัญหาความซับซ้อนของการอนุมัติโครงการและเกณฑ์การพิจารณาหน่วยธุรกิจที่เข้าข่ายการได้รับผลกระทบจากการค้าเสรี จึงทำให้บริษัทที่เข้าร่วมในโครงการมีน้อยมาก แต่ข้อดีของกองทุนของเกาหลีคือ มีทั้งเงินเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาและเงินทุนให้กู้ยืม ข้อเสนอแนะจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการศึกษาสามารถสรุปข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง เจ้าหน้าที่กองทุน เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ/กลุ่มผู้ประกอบการ ได้ดังนี้ 1) ควรรวมกองทุนเป็นกองทุนเดียวเพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) 2) ในการเขียนโครงการ ทางกองทุนควรจัดหาที่ปรึกษาให้กับผู้ได้รับผลกระทบหรือร่วมกันเขียนโครงการ 3) ควรปรับโครงสร้างการบริหารกองทุนให้มีขนาดเล็กลงเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ (การนัดหมายประชุมเพื่อพิจารณาโครงการจะทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น) แนวทางการจัดการกองทุนในอนาคต แม้ว่าไทยจะมีกองทุนที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเสรีการค้า 2 กองทุน จาก 2 กระทรวง (กองทุน FTA เกษตร และกองทุน FTA พาณิชย์) แต่การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีของทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวก็มีทั้งความซ้ำซ้อนและความซ้ำเสริม คณะวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนากองทุน 4 ยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หลักการ เพื่อให้มีการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีอย่างทันท่วงที กองทุนต้องมีฐานข้อมูลทางด้านการค้าการลงทุน และข้อตกลงการค้าเสรีที่ทันต่อเหตุการณ์ และคาดคะเนผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ล่วงหน้า ก่อนที่จะได้รับการร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบ ผู้บริหารกองทุนต้องมีความรู้รอบด้าน เกี่ยวกับผลกระทบของการค้าเสรีในแต่ละคู่ค้า และในแต่ละรายสินค้าและบริการว่า ส่งผลกระทบเชิงบวกและ/หรือเชิงลบมากน้อยเพียงใดต่อผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มใด ต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่สามารถเข้าถึงบุคคลหรือหน่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบทราบถึงทางออก หรือการใช้ประโยชน์จากกองทุนของภาครัฐ กองทุนต้องมีการวางกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นเพียงพอ ที่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือกลุ่มแรงงานขนาดเล็กสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ กระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการต้องรวดเร็ว โดยอาศัยองค์ความรู้ของบุคลากรในกองทุน และการตัดสินใจดังกล่าวต้องสามารถตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใส ยุทธศาสตร์ที่ 2 ความครอบคลุม หลักการ เพื่อให้มีการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มธุรกิจ หน่วยธุรกิจ แรงงาน เกษตรกร และชาวประมง กองทุนต้องมีโครงการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การผลิต ตลอดจนถึงการแปรรูปและการตลาด หรือกล่าวได้ว่าให้ความช่วยเหลือตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ กองทุนต้องมีการช่วยเหลือทั้งในรูปแบบฉุกเฉิน จนถึงระดับการปรับโครงสร้างธุรกิจและ/หรือการปรับโครงสร้างของทั้งอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพราะการช่วยเหลือแบบฉุกเฉินจะป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้น กองทุนต้องตั้งเป้าหมายที่จะช่วยผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดและในเวลาที่รวดเร็ว แทนที่จะช่วยในลักษณะของโครงการนำร่อง เพราะมักจะใช้เวลาทดลองนานเกินไป กองทุนต้องสามารถประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ที่มาจากต่างกระทรวงและหน่วยงานภาคเอกชนหลักๆ อาทิเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น กองทุนจะต้องมีเครือข่ายบูรณาการระหว่างอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถเรียนรู้ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวจากการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปิดการค้าเสรี ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเข้าถึงกองทุน หลักการ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและสามารถประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กองทุนจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในหน้าที่และบทบาทวิธีการดำเนินงานของกองทุน โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกร และหน่วยธุรกิจขนาดกลางและเล็ก กองทุนต้องสามารถเข้าถึงได้ทั้งการติดต่อผ่านหน่วยงานภาครัฐ องค์กร ตัวแทนของภาคเอกชน หรือติดต่อได้โดยตรงกับหน่วยธุรกิจ กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มแรงงาน กองทุนต้องมีสาขาในแต่ละภูมิภาค เพื่อที่จะรองรับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยธุรกิจ แรงงานและเกษตรกร ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการ หลักการ รวดเร็ว มีงบประมาณเพียงพอ บริหารจัดการโปร่งใส และตรวจสอบได้ กองทุนจะต้องมีกรอบการปฏิบัติงานที่ชัดเจนในการร่วมร่างโครงการ ขอความช่วยเหลือ การพิจารณาอนุมัติโครงการ การจัดหาที่ปรึกษาโครงการ และกระบวนการติดตามการดำเนินงาน คณะกรรมการกองทุนต้องมีจำนวนที่ไม่มากจนเกินไป จนทำให้เกิดความล่าช้า และมิให้เหมือนการบริหารราชการในระบบปกติ คณะกรรมการกองทุนจะต้องมีอำนาจตัดสินใจ และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจดังกล่าว กองทุนจะต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ ในการบริหารจัดการทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีฉุกเฉิน การแก้ไขปัญหาของหน่วยธุรกิจ และการปรับโครงสร้างของทั้งอุตสาหกรรม ผู้จัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนต้องมีความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการของกองทุน การบริหารเงินของกองทุนต้องมีทั้งการจ่ายขาด และการให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการสมทบและปล่อยกู้บางส่วน ให้แก่หน่วยธุรกิจ แรงงาน และเกษตรกร รูปแบบการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ ของกองทุนต้องสนองตอบต่อความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบ กองทุนจะต้องสามารถประสานงานกับสถาบันการเงินทั้งเอกชนและภาครัฐ ในการสานต่อโครงการของหน่วยธุรกิจหรือกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนต่ำ การดำเนินโครงการต่างๆ จะต้องมีระบบการประเมินที่ยืดหยุ่นเพียงพอ มีความเข้าใจสถานการณ์อื่นๆ รอบด้านที่อาจจะเกิดขึ้นและมีผลต่อประสิทธิภาพของโครงการ กองทุนจะต้องถูกประเมินการทำงานได้ตลอดเวลา กองทุนต้องมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อการจัดการ การจัดการกองทุนดังกล่าวควรจะต้องมีอิสระจากระบบราชการ ทั้งนี้จากผลการศึกษา คณะวิจัยขอเสนอแนะให้บริหารจัดการกองทุนในรูปแบบ องค์การมหาชน ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกในการจัดการ เพราะองค์การมหาชนมีบทบาทที่จะสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ โดยมีอิสระในการตัดสินใจ แต่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใส โดยองค์การมหาชนเป็นองค์กรของภาครัฐรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่บริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดแทนหน้าที่ของรัฐเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการบริหารจัดการสูงสุด ที่ดำเนินการได้ในรูปแบบของราชการ โดยมีรัฐสนับสนุนด้านการงบประมาณ มีตัวชี้วัดที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร แต่มีเป้าหมายช่วยพัฒนาส่วนต่างๆ ของสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อสนองต่อนโยบายด้านใดด้านหนึ่งของภาครัฐที่มุ่งการบริการสาธารณะ ทั้งนี้ข้อเสนอแนะอีกทางเลือกหนึ่งหากไม่สามารถจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้รับผลกระทบการเปิดการค้าเสรีได้ คือให้มีตัวแทนของภาคเอกชน (ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนผู้ประกอบการ) เข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ และคณะกรรมการพิจารณาการเงินของกองทุนความช่วยเหลือผู้รับผลกระทบการเปิดเสรีทางการค้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ