กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
จากสถานการณ์น้ำป่าและพายุฝน น้ำจากแม่น้ำยมที่ทะลักเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจ อ.เมืองสุโขทัย ยังไม่คลี่คลาย หลังจากใช้บิ๊กแบ็กอุดโพรงน้ำได้ประมาณ 50% แรงดันน้ำกลับแรงขึ้น จากช่องทางที่เล็กลง จนเจ้าหน้าที่ควบคุมการวางไม่ได้ แรงดันน้ำทำให้บิ๊กแบ็กลอย ส่งผลให้ตลาดสุโขทัย ยังคงปิดตายอย่างต่อเนื่อง ส่วนจังหวัดลำพูนได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้ง 5 อำเภอแล้วได้แก่ อำเภอแม่ทา บ้านธิ ป่าซาง ลี้ และ อำเภอทุ่งหัวช้าง ทางรถไฟภาคเหนือที่ จ.ลำพูน ขาดสะบั้น ส่งผลให้คมนาคมทางรถไฟจากภาคเหนือสู่กรุงเทพฯ เป็นอัมพาตถูกตัดขาดไปหลายวันนั้น
รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล) กล่าวว่า “ สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ ครั้งนี้เป็นน้ำป่าไหลหลาก เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่อง น้ำป่าไหลหลากลงมาเชี่ยวกรากอย่างรุนแรง จากภูเขาก็จะไหลตามแม่น้ำสายต่าง ๆ ดินบนภูเขาชุ่มน้ำถล่มลงมาได้และทำให้รางรถไฟและหมอนไม้ห้อยรุ่งริ่ง ส่งผลให้รางรถไฟขาด ถนนชำรุดทรุดตัวลงมา ทางรถไฟบ้านเรามีความยาวรวมทั่วประเทศ 4,400 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นระบบรางเดี่ยว ส่วนระบบรางคู่นั้นมีไม่ถึง 10 % หากเกิดภัยพิบัติจะส่งผลเสียหายหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรถไฟสู่ภาคเหนือซึ่งมีเพียงเส้นเดียว และต้องผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขา โดยรางรถไฟจะเกาะอยู่ตามลาดไหล่เขาซึ่งมักมีชั้นดินอ่อน ดังเช่น เหตุที่เกิดบนเส้นทางรถไฟช่วงบริเวณสถานีขุนตาน - สถานีทาชมภู หมู่ที่ 8 ตำบลทาชมภู อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ที่ถูกน้ำป่าซัดขาดและทรุดตัวลงไปเหวลึกประมาณ 28 เมตร ความยาวของรางรถไฟ 32 เมตร ส่งผลให้รถไฟสายเหนือต้องจอดที่สถานีลำปางแห่งเดียว ประชาชนต้องเดินทางต่อไปลำพูน และเชียงใหม่ ทางรถยนต์ “
แม้ว่าขณะนี้ทาง ร.ฟ.ท. ได้ระดมกำลังพร้อมเครื่องมือหนักเข้าไปซ่อมรางรถไฟที่เสียหายจากภูเขาถล่ม โดยบดอัดถมดินให้แน่น และนำหิน-ลูกรัง มาหนุนใต้หมอนรางรถไฟ แล้วเตรียมทดสอบวิ่งจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ สถานีรถไฟลำพูน ไปยังปลายทางสถานีรถไฟหัวลำโพง แล้วก็ตาม รศ.ดร.สุชัชวีร์ ให้ข้อคิดเห็นว่า
“ เราควรเร่งออกสำรวจพื้นที่เสี่ยงบนเส้นทางรถไฟที่ผ่านบนเขา ซึ่งมีความเสี่ยงต่ออันตรายสูงมาก ทั้งน้ำป่า พายุฝน ภูเขาถล่ม และทางที่คดเคี้ยว เพื่อเร่งหาทางป้องกัน ประเทศไทยควรพัฒนาระบบอุโมงค์รถไฟ ลอดใต้ภูเขา มาใช้ในประเทศไทยให้มากขึ้นซึ่งเป็นโครงสร้างคมนาคมทางวิศวกรรมที่มั่นคงแข็งแรง แนวเส้นทางตรงให้ความปลอดภัยสูง และอายุการใช้งานยาวนาน ดังที่นานาประเทศใช้กันเป็นมาตรฐาน ในภาคเหนือควรทำเป็นระบบ 2 อุโมงค์ลอดภูเขา คือ ไป-กลับ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 5 เมตร ทั้งนี้ขนาดขึ้นอยู่กับความยาวของอุโมงค์ หากมองแต่เพียงว่าลงทุนสูงกว่ารางบนดิน เราจะเป็นศูนย์กลางคมนาคมและพาณิชย์ของภูมิภาคได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตของประชาชนและสาธารณูปโภคของเรายังสุ่มเสี่ยงกับวิกฤติที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาพพจน์ของประเทศเราอีกด้วย
ส่วนการรับมือภาวะน้ำท่วมกรุงเทพฯ ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา หากบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการลดมวลน้ำ และควบคุมให้น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่มีฝนตกเพิ่มบริเวณตอนบนและตอนกลางของลุ่มน้ำก็ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง แต่ต้องเฝ้าติดตามพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามา ส่วนในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯซึ่งเป็นพื้นที่ในแนวฟลัดเวย์นั้น ศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติ วิศวลาดกระบัง มีการเตรียมพร้อมโดยได้เสริมสร้างความร่วมมือและองค์ความรู้ให้กับ เครือข่าย 61 ชุมชนในเขตลาดกระบัง ในการเฝ้าระวังระดับน้ำใกล้ชุมชน การป้องกัน การปรับตัวอยู่กับน้ำท่วม และการบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่ “