กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่าได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างจริงจัง โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขึ้น ทั้งนี้จะได้ประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย ซึ่งจะเป็นการประสานงานแบบบูรณาการอันจะทำให้การแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การนำช้างออกมาเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาการจราจร การเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ในขณะที่ช้างเองเสี่ยงต่อการได้รับมลพิษ ทั้งนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจฯ จะได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีตำรวจนครบาล, ตำรวจ 191 และสถานีวิทยุเพื่อการจราจร ซึ่งหากได้รับแจ้งจากประชาชนหรือพบเห็นช้างเร่ร่อนให้รีบแจ้งมาได้ที่ สายด่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หมายเลข 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ช้างเร่ร่อนที่จับมาได้นั้นจะมีการตรวจสอบว่ามีตั๋วรูปพรรณตามมาตรา 19 ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หรือไม่ ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่มีก็จำเป็นต้องส่งฟ้องศาลเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไป และช้างของกลางที่ยึดได้ก็จะตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน โดยจะได้นำช้างของกลางส่งมาดูแลที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ในขณะที่ควาญช้างจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
และจำคุกไม่เกิน 4 ปี
สำหรับช้างของกลางที่นำมาพักไว้ที่ “บ้านพักช้าง” เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี
นั้นจะได้รับการดูแลอย่างดีทั้งเรื่องที่พักช้าง และอาหาร โดยมีผู้ดูแลช้างจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. อีกทั้งมีสัตวแพทย์ที่จะให้การรักษาพยาบาลช้างในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วย รวมทั้งจัดยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงด้วย ซึ่งจากการจับกุมและดำเนินคดีกับควาญที่นำช้างมาเร่ร่อน ตั้งแต่วันที่ 21-26
สิงหาคม 47นั้น ได้ยึดช้างไว้ทั้งหมด 7 เชือก พร้อมควาญช้าง 9 คน
พร้อมกันนี้ นายสุวิทย์ ได้ขอความร่วมมือไปยังประชาชนทั่วไปมิให้บริจาคเงิน หรือซื้ออาหารเลี้ยงช้างเร่ร่อนที่ควาญช้างนำมาเดินในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการส่งเสริมให้มีการนำช้างออกมาเร่ร่อนตามเมืองใหญ่มากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการทรมานสัตว์และส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนตามมา ดังนั้นหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังก็เชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนให้กลับคืนสู่ถิ่นที่เหมาะสมได้ถาวร--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--