กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--รฟม.
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชน โครงการศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ปรับปรุงแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย — มีนบุรี โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 500 คน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นโครงการหนึ่งในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว จากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กำหนดให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) ที่เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง และคณะกรรมการ รฟม. มีมติให้ รฟม. ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ฯ ในรูปแบบการออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างไปพร้อมกัน(Design & Build) แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้พื้นที่ การขยายตัวของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และประชากร โดยรอบเส้นทางอย่างรวดเร็ว และเพื่อเป็นการรองรับการบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและนนทบุรีฉบับใหม่ จึงมีความจำเป็นให้มีการศึกษาทบทวนความเหมาะสม ปรับปรุงแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงออกแบบเบื้องต้น และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เพิ่มเติม) จัดทำเอกสารประกวดราคา และจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535
การสัมมนาในวันนี้ มีการนำเสนอสาระสำคัญ ประกอบด้วยแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ฯ ตั้งแต่ต้นทางจากสถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีใกล้แยกแคราย ผ่านถนนติวานนท์ก่อนเลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อถนนรามอินทราไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีมีนบุรี รวมระยะทาง 34.5 กิโลเมตร โดยจากผลการศึกษาเห็นควรให้เพิ่มสถานีจากเดิมที่ สนข. เคยศึกษาไว้ 24 สถานี เป็น 30 สถานี ดังนี้ 1.ศูนย์ราชการนนทบุรี 2.แคราย 3.สนามบินน้ำ 4.สามัคคี 5.กรมชลประทาน 6.ปากเกร็ด 7.เลี่ยงเมืองปากเกร็ด 8.แจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด 28 9.เมืองทองธานี 10.ศรีรัช 11.เมืองทอง 1 12.ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 13.ทีโอที 14.หลักสี่ 15.ราชภัฎพระนคร 16.วงเวียนหลักสี่ 17.รามอินทรา 3 18.ลาดปลาเค้า 19.รามอินทรา 31 20.มัยลาภ 21.วัชรพล 22.รามอินทรา 40 23.คู้บอน 24.รามอินทรา 83 25.วงแหวนตะวันออก 26.นพรัตนราชธานี 27.บางชัน 28.เศรษฐบุตรบำเพ็ญ 29.ตลาดมีนบุรี และ 30.มีนบุรี
นอกจากนี้ ยังนำเสนอรูปแบบของเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) เป็นแบบเส้นรัศมีและเส้นรอบวง (Radial-Circumferential Pattern) โดยที่เส้นรัศมีซึ่งรองรับโดยระบบขนส่งมวลชนระบบหลัก จะกระจายความหนาแน่นของกิจกรรมในเมืองออกสู่พื้นที่ชานเมือง สำหรับแนวเส้นทางเส้นวงรอบซึ่งรองรับโดยระบบขนส่งมวลชนระบบรอง มีจุดมุ่งหมายที่จะกระจายความหนาแน่นของกิจกรรมเมือง และเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างเส้นรัศมีหรือระบบขนส่งมวลชนระบบหลัก ซึ่งโครงการรถไฟฟ้า
สายสีชมพู ฯ นั้น เป็นระบบรองโดยมีเป้าหมายที่จะกระจายความเจริญจากพื้นที่ส่วนกลางไปสู่ศูนย์ความเจริญรอบกรุงเทพมหานคร และเพื่อควบคุมความหนาแน่นของพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถานที่ทำงานและที่อยู่อาศัยของประชาชนเป็นจำนวนมาก เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ กรมการกงศุล ศาลปกครอง รวมถึง ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หมู่บ้านจัดสรร สถานศึกษา ศูนย์การประชุมและจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้มีความต้องการเดินทางสูงและมีแนวโน้มการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีชมพู ฯ สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรและอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางในพื้นที่ดังกล่าวได้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ฯ เป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อกับใจกลางกรุงเทพมหานครโดยระบบรถไฟฟ้าหลัก 4 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ (บริเวณทางแยกแคราย) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต (บริเวณทางแยกหลักสี่) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่(บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี (บริเวณทางแยกร่มเกล้า) ทำให้เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับรูปแบบของระบบการเดินรถ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ซึ่งเป็นระบบที่มีสมรรถนะและมีความปลอดภัยสูง สามารถขนส่งผู้โดยสาร 33,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง และมากกว่าได้ ซึ่งสามารถขนส่งได้เกือบเทียบเท่ากับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดหนัก ตัวรถและโครงสร้างมีขนาดเล็กและเบา ทำให้ก่อสร้างง่าย รวดเร็ว และมีมูลค่าการก่อสร้างไม่สูง มีรัศมีวงเลี้ยวของตัวรถแคบ ทำให้เวนคืนที่ดินน้อย และโครงสร้างทางวิ่งมีลักษณะโปร่ง ไม่ส่งผลกระทบกับทัศนียภาพใต้ทางยกระดับ รวมทั้งใช้ล้อยางทำให้เกิดเสียงดังน้อยกว่าระบบขนส่งมวลชนที่ใช้รางเหล็กและล้อเหล็ก
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงมีนบุรี อยู่บริเวณซอยรามคำแหง 192 บนพื้นที่กว่า 280 ไร่ โดยคำนึงถึงการออกแบบเพื่อรองรับแนวคิดการพัฒนา Transit Oriented Development (TOD) โดยให้มีการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยหรือการค้าที่ได้รับการออกแบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้ลดการใช้รถยนต์ที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และอากาศเสียได้
ส่วนรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมคือ รัฐดำเนินการโดยให้ รฟม. เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด จะมีความเหมาะสมกว่าทั้งในด้านความคุ้มค่าทางการเงิน ระยะเวลาดำเนินการรวดเร็ว สามารรถเชื่อมต่อการเดินทางเดินทางหรือใช้ระบบตั๋วร่วมกับระบบอื่นได้สะดวก โดยใช้เงินกู้จากกระทรวงการคลังว่าจ้างเอกชนออกแบบ ก่อสร้างงานโยธา จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ในรูปแบบ Design&Build รวมบำรุงรักษาในช่วงแรก และว่าจ้างเอกชนเป็นผู้ให้บริการเป็นระยะเวลา 5 -10 ปี โดยชำระค่าจ้างตามปริมาณการเดินรถในแต่ละปี ใช้งบประมาณการลงทุนทั้งสิ้น 54,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 2560 และเก็บค่าโดยสาร 20 บาทจะมีปริมาณผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วน 187,770 คน/เที่ยว/วัน และในปี 2590 จะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 882,130 คน-เที่ยว/วัน มีปริมาณผู้โดยสารที่อยู่บนรถไฟฟ้า (Line Load) สูงสุดของโครงการสายสีชมพู ฯ ในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าสูงเกือบ 33,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง
ตามแผนดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2560 ซึ่งเมื่อโครงการ ฯ แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
แผนกกิจการสัมพันธ์และสารนิเทศ
กองประชาสัมพันธ์
โทร. 0 2716 4000 ต่อ 1120 โทรสาร. 0 2716 4037 E-mail : pr@mrta.co.th