กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--แกรนท์ ธอร์นตัน
แกรนท์ ธอร์นตัน ได้รับเลือกจากสำนักงานบริหารจัดการโอลิมปิคภาครัฐ (The Government Olympic Executive: GOE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา (The Department of Culture, Media and Sport: DCMS) ของประเทศอังกฤษให้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิคทั้งหมด เพื่อประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและคุณประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิคและพาราลิมปิค 2012 ที่เสร็จสิ้นลงเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมุ่งที่จะนำเสนอถึงคุณประโยชน์ในระยะยาวสำหรับประเทศอังกฤษโดยรวม
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิคและพาราลิมปิคครั้งนี้มีนักกีฬากว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม โดยมีนักกีฬาโอลิมปิคกว่า 10,500 คน และนักกีฬาพาราลิมปิคกว่า 4,200 คน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 14,000 คน ซึ่งมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคทั้งหมด 26 รายการ ณ สนามแข่งขัน 34 แห่ง และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิคมีทั้งหมด 20 รายการ ณ สนามแข่งขัน 21 แห่ง
ทั้งนี้ กล่าวกันว่าเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของผลการสำรวจที่ได้รับการสรุปผลแล้วอีกครั้งหนึ่ง หรือที่เรียกว่าการประเมินงานประเมิน (Meta-evaluation) สำหรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา โอลิมปิค ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประเทศอังกฤษมีความเข้าใจ และเป็นการนำเสนอให้เห็นถึงผลกระทบในระยะยาวจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าการลงทุนเพื่อจัดการแข่งขันนั้นมีความคุ้มค่าทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเป็นการรวบรวมผลการสำรวจของทุกแผนงานและโครงการ ที่ศึกษาความคุ้มค่าในระยะยาวของการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิค และใช้ข้อมูลเหล่านี้ควบคู่กับการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินคุณประโยชน์โดยรวมที่ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวม เช่น ผลกระทบจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคต่อเศรษฐกิจและความสนใจต่อกีฬาในประเทศอังกฤษ เป็นต้น
สตีเฟ่น กิฟฟอร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ แกรนท์ ธอร์นต้น ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการการประเมินดังกล่าว เปิดเผยว่า “การจัดทำการประเมินแบบ Meta-evaluation สำหรับการแข่งขันโอลิมปิค 2012 นั้นเป็นงานใหญ่ เราแบ่งการสำรวจออกเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ กีฬา เศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการขยายผลสืบเนื่องต่อไป และเรายังได้ศึกษาผลกระทบใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านภูมิศาสตร์ ความหลากหลาย ผลที่ตามมา และความคุ้มค่าต่อการลงทุน จากสิ่งนี้ ทำให้เราสามารถกำหนดกรอบการดำเนินงานสำหรับการประเมินนี้ได้ อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคพอควรสำหรับการดำเนินงานครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการที่การสำรวจแต่ละโครงการมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และการชี้ชัดว่าเม็ดเงินลงทุนในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิคกับการลงทุนในโครงการขยายผลอื่นๆ นั้นแบ่งแยกกันอย่างไรนั้นเป็นเรื่องยาก”
ผลการประเมินในเบื้องต้นจะได้รับการเผยแพร่ในช่วงฤดูร้อน/ฤดูใบไม้ผลิ ปี 2013 ซึ่งไม่นานหลังจากการแข่งขันเสร็จสิ้นลง จากนั้นจะมีการสำรวจอื่นๆ เฉพาะรายการอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามผลในระยะยาวจนถึงปี 2020
เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีสถานที่ ระบบการขนส่ง และสาธารณูปโภคทางด้านเทคโนโลยีที่เพียบพร้อมสำหรับการจัดงานครั้งสำคัญอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการเงินลงทุนมากเพื่อที่จะสร้างสาธารณูปโภคใหม่ เปรียบเทียบกับกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ต้องการการลงทุนในระดับสูง เช่นประเทศไทย หรือบราซิล ที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิคครั้งต่อไป โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาครั้งสำคัญจะช่วยให้กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่มี “ตู้โชว์” เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการ รวมทั้งทำการตลาดไปยังทั่วโลกได้ ประเทศไทยจึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อดึงดูดการลงทุนให้เข้ามายังระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยม เชื่อว่าจะมีโอกาสในการได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ และนอกเหนือจากการได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพแล้ว รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาให้จัดทำการประเมินโครงการในลักษณะเดียวกันกับที่รัฐบาลประเทศอังกฤษดำเนินการ”
เกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย
แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงธุรกิจในฐานะบริษัทที่ปรึกษาและให้บริการอย่างมืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงแผนธุรกิจ รวมถึงดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าขยายธุรกิจผ่านการควบรวมและมองหาโอกาสในการขยายกิจการ ทั้งนี้ การให้บริการของแกรนท์ ธอร์นตัน ครอบคลุมถึง การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ การตรวจสอบบัญชีทั้งภายในและภายนอกองค์กร การให้คำปรึกษาทางภาษีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การให้คำปรึกษาด้านการเงิน การปรับโครงสร้างองค์กร การควบรวมกิจการ งานด้านกฏหมายและการสืบสวน การบริหารความเสี่ยง การประเมินราคาทรัพย์สินสุทธิทางการเงินและภาษีก่อนที่จะทำการซื้อขายกิจการ ความช่วยเหลือด้านการโอนเงิน การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ การแนะกลยุทธ์ให้บริษัทในการออกจากธุรกิจเพื่อถอนทุนคืน การจัดหาบุคลากรระดับผู้บริหาร การเตรียมการเพื่อถ่ายโอนกิจการ และการพิจารณาผลตอบแทน ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กรุณาค้นหาที่เว็บไซต์ www.grantthornton.co.th
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ลักษณ์พิไล วรทรัพย์
ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร
แกรนท์ ธอร์นตัน
โทร: 02 205 8142
อีเมล์: lakpilai.worasaphya@th.gt.com