กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดศูนย์เครื่องยาสมุนไพรไทย เป็นแหล่งรวบรวมเครื่องยาสมุนไพรที่ได้ทำการศึกษาวิจัยแล้ว พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสมุนไพรได้เข้าชมและศึกษาเรียนรู้ สามารถนำเครื่องยามาใช้ได้อย่างถูกต้อง
นายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานร่วมเปิดศูนย์เครื่องยาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าการใช้สมุนไพรของไทยเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษมาหลายรุ่น เดิมไม่มีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องยาสมุนไพรให้เป็นหมวดหมู่หรือเป็นระบบสากลที่ให้สามารถสืบค้นได้ง่ายและการใช้สมุนไพรนิยมใช้เป็นเครื่องยาสมุนไพรแห้ง โดยเลือกเก็บตามช่วงเวลาและฤดูกาลที่เหมาะสมนำมาแปรสภาพเพื่อเป็นเครื่องยาแห้งเก็บไว้ใช้เป็นยาต่อไป เนื่องจากเครื่องยาสมุนไพรแห้งมีการแปรสภาพไปจากเดิม การจำแนกชนิดของเครื่องยาทำได้ยาก บางครั้งมีการใช้ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากเดิม ซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับพืชที่เป็นแหล่งที่มาของเครื่องยา นอกจากนี้สมุนไพรบางชนิดอาจมีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นพ้องกัน แต่ต่างชนิดกันหรือเรียกต่างกันแต่เป็นชนิดเดียวกันสมุนไพรบางชนิดหายาก ทำให้ขาดแคลนหรือมีราคาแพง อาจมีการนำสมุนไพรชนิดอื่นมาใช้ทดแทน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดถึงที่มาของเครื่องยาสมุนไพรดังกล่าว การใช้เครื่องยาผิดชนิดในการปรุง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจเกิดโทษหรืออันตรายกับผู้ใช้
นายแพทย์สมชัย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนการพัฒนายาสมุนไพรไทยเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการรักษาพยาบาล ขณะนี้มีสมุนไพรถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วเกือบ 100 รายการ มูลค่าการใช้ในสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปีละกว่า 300 ล้านบาท โดยให้สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นแหล่งรวบรวมเครื่องยาสมุนไพรที่ได้ทำการศึกษาวิจัยไปแล้ว จัดทำเป็นศูนย์เครื่องยาสมุนไพร และเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสมุนไพรได้เข้าชมและศึกษาเรียนรู้
นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2554 สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการปรับปรุงสถานที่ ห้อง 411 อาคาร 9 ชั้น 4 เป็นสถานที่รวบรวมตัวอย่างพืชและส่วนของพืชที่เป็นแหล่งที่มาของเครื่องยาสมุนไพร ตัวอย่างดังกล่าวได้จากการเก็บจากแหล่งต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นำมาศึกษารายละเอียดลักษณะของพืช ต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด จัดทำพรรณไม้แห้ง ตรวจสอบชื่อลาตินตามหลักอนุกรมวิธาน นำส่วนของพืชที่จะใช้เป็นเครื่องยามาศึกษารายละเอียด จัดทำเป็นตัวอย่างเครื่องยาสมุนไพร ใช้สำหรับการอ้างอิงชื่อเครื่องยาสมุนไพรและชื่อลาตินของพืช เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับผู้สนใจได้รู้จักเครื่องยา สามารถนำเครื่องยาสมุนไพรมาใช้ได้อย่างถูกต้องตามที่ต้องการ โดยเปิดให้ประชาชน ผู้สนใจเข้าชมและศึกษาเรียนรู้ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 -16.30 น. หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลข 0-2951-0000 ต่อ 99278